รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
เทียบกันชัดชัด Sinopharm แพ้แบบรุนแรง น้อยกว่า Pfizer ถึง 15 เท่า
หลังจากมีการระบาดของโควิดไปทั่วโลก การวิจัยพัฒนาวัคซีนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว มีหลากหลายเทคโนโลยี และในเทคโนโลยีเดียวกัน ก็มีหลากหลายบริษัท
ทำให้ประชาชนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องในรายละเอียดเกี่ยวกับวัคซีนมาก่อน มีความสับสน และต้องการข้อมูลสำหรับการเปรียบเทียบวัคซีนชนิดต่างๆ
โดยต้องการ การเปรียบเทียบทั้งในด้านประสิทธิผลในการป้องกันการติดเชื้อ ประสิทธิผลในการลดการป่วย ประสิทธิผลในการลดการเสียชีวิต
นอกจากนั้น ยังต้องการ การเปรียบเทียบถึงความปลอดภัยหรือผลข้างเคียงของวัคซีนแต่ละชนิดอีกด้วย
เนื่องจากเป็นวัคซีนใหม่ และการฉีดในแต่ละประเทศ ก็มีความแตกต่างกัน ทั้งเชื้อชาติ วิถีชีวิตความเป็นอยู่ สภาพภูมิประเทศ ชนิดของไวรัส ตลอดจนชนิดของวัคซีนที่ฉีดก็แตกต่างกัน จึงทำให้การเปรียบเทียบ ทำได้ไม่ค่อยดีนัก
อย่างไรก็ตาม ในเรื่องการเปรียบเทียบผลข้างเคียงของวัคซีน ในส่วนที่เป็นผลข้างเคียงที่รุนแรง และมีอาการเด่นชัด จนต้องรักษาตัวในโรงพยาบาล จะเป็นข้อมูลที่มีความน่าเชื่อถือ และมีความคลาดเคลื่อนค่อนข้างน้อย
วันนี้จะลองพยายามเปรียบเทียบวัคซีนเทคโนโลยีเชื้อตายของ Sinopharm กับวัคซีนเทคโนโลยี mRNA ของ Pfizer และ Moderna
ในกรณีผลข้างเคียงชนิดรุนแรง (Severe ) แต่พบน้อยมาก (Very rare)
ซึ่งนอกจากจะมีกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ (Myocarditis) แล้ว ก็จะมีเรื่องการแพ้รุนแรงแบบช็อก (Anaphylaxis) ซึ่งได้มีการรวบรวมตัวเลขไว้ ที่น่าสนใจดังนี้
1.วัคซีน Pfizer พบการแพ้รุนแรง 47 ราย จาก 9.94 ล้านโดส คิดเป็น 4.7 รายต่อ 1 ล้านโดส
2.วัคซีน Moderna พบ 19 รายต่อ 7.58 ล้านโดส คิดเป็น 2.5 รายต่อ 1 ล้านโดส
3.วัคซีน Sinopharm พบ 3 รายต่อ 9.37 ล้านโดส คิดเป็น 0.3 รายต่อ 1 ล้านโดส
ดังนั้นจึงพอเห็นได้จากสถิติว่า วัคซีน Sinopharm มีอัตราการแพ้ชนิดรุนแรงน้อยกว่า Pfizer อยู่ 15 เท่าและน้อยกว่าของ Moderna อยู่ 8 เท่า
อย่างไรก็ตาม การแพ้แบบรุนแรงจากวัคซีน จะสามารถช่วยเหลือได้เกือบทั้งหมด เพราะในทางการแพทย์ เรามียารักษาอาการแพ้รุนแรงโดยตรง
ถ้าประชาชนปรากฏอาการแพ้ในสถานพยาบาลที่ฉีดวัคซีน จะสามารถแก้ไขได้ทันท่วงที และจนปัจจุบัน ก็ยังไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตจากการแพ้รุนแรงแบบช็อกแต่อย่างใด
ทั้งนี้การนั่งรอ 30 นาที ก่อนจะกลับบ้าน มีความจำเป็นอย่างมากเนื่องจากพบว่า ผู้รับวัคซีนจะมีการแพ้รุนแรงแบบช็อกภายใน 30 นาทีมากถึง 89% และเกิดใน 15 นาทีแรก 76-84%
การเปรียบเทียบดังกล่าวของวัคซีน Pfizer และ Moderna เป็นการเก็บตัวเลขที่สหรัฐอเมริกา
ส่วนของ Sinopharm เป็นการเก็บตัวเลขของราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ ของประเทศไทย
ในอนาคต เมื่อประเทศไทยมีการฉีดวัคซีน Pfizer มากขึ้น คงจะมีตัวเลขการแพ้รุนแรงของ Pfizer ในคนไทย เพื่อนำมาเปรียบเทียบกับตัวเลขการแพ้ของ Sinopharm ในคนไทยด้วยกันต่อไป
สำหรับสถานการณ์การฉีดวัคซีนโควิด-19 (covid-19)ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามรายงานจากศูนย์ข้อมูลโควิด-19 กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.- ต.ค.64 มีการฉีดวัคซีนสะสมจำนวน 55,150,481 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 32,987,918 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 20,696,791 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 1,465,772 ราย