รมว.ยุติธรรม ชู สมุทรปราการโมเดล ปล่อยนักโทษทำงาน

11 ต.ค. 2564 | 09:30 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ต.ค. 2564 | 16:38 น.

รมว.ยุติธรรม เปิดพิธีปล่อยนักโทษทำงาน สมุทรปราการโมเดล รุ่นแรก พร้อมเซ็น MOU ร่วมผู้ประกอบการ ขอทุกคนตั้งใจพัฒนาตนเอง อย่าหวนกลับมาทำผิดซ้ำ

11 ตุลาคม 2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่เรือนจำกลางสมุทรปราการ นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม เป็นประธานในพิธีปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดออกทำงานโครงการสร้างงานสร้างอาชีพฝึกทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรม "สมุทรปราการโมเดล" และพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ MOU ระหว่างกรมราชทัณฑ์กับผู้ประกอบการ

โดยมีนายวันชัย คงเกษม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ ว่าที่ ร.ต.ธนกฤต จิตอารีย์รัตน์ เลขานุการ รมว.ยุติธรรม น.ส.ณัฐธ์ภัสส์ ยงใจยุทธ ผู้ช่วย รมว.ยุติธรรม นายอายุตม์ สินธพพันธุ์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์

นายวิตถวัลย์ สุนทรขจิต อธิบดีกรมคุมประพฤติ นายวิริศ อัมระปาล ผู้ว่าการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายยงยุทธ สุวรรณบุตร ส.ส.สมุทรปราการ พรรคพลังประชารัฐ นายยุทธนา นาคเรืองศรี ผบ.เรือนจำกลางสมุทรปราการ และผู้บริหาร ภาคเอกชนร่วมงาน

ช่วงแรก นายสมศักดิ์ รมว.ยุติธรรมได้เดินชมนิทรรศการของกรมราชทัณฑ์ จากนั้นเป็นประธานสักขีพยานบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOU) ระหว่างกรมราชทัณฑ์ และผู้ประกอบการ โดยนายอายุตม์ พร้อมด้วย นางสิญจ์พธู หาญวรากิตติ์ กรรมการ บริษัท วีเอส 09 ออริจินอลเฮิร์บ จำกัด นางอัจฉรา นิมิตปัญญา กรรมการผู้จัดการบริษัท เจพีเค โคลด์ สโตเรจ จำกัด

นายอรรถวิทย์ เวียงอินทร์ ผู้จัดการบริษัทโซโลม่อน แมสเทรส ประเทศไทย จำกัด นายเอกลักษณ์ วัฒนาพร กรรมการบริษัท ซีอีแมน โฮลดิ้ง จำกัด ดร.นพพล ชูกลิ่น กรรมการบริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์ จำกัด และนางอรัญญา สุวรรณบุตร บริษัท ไต้ทงแมชชีนเนอรี่ จำกัด

นายอายุตม์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า กรมราชทัณฑ์มีภารกิจสำคัญยิ่งในการแก้ไข พัฒนาพฤตินิสัยผู้ต้องขังให้โอกาสผู้กระทำความผิดได้ปรับปรุงตัวเอง ส่งเสริมให้มีการสร้างงาน สร้างอาชีพถือเป็นการพัฒนา และใช้ทรัพยากรมนุษย์ให้เต็มศักยภาพสูงสุดเพื่อให้ผู้ต้องขังเหล่านี้สามารถกลับไปอยู่ร่วมกับสังคมอย่างเป็นสุข และไม่กลับมากระทำผิดซ้ำอีก

หนึ่งในโครงการเพื่อตอบสนองภารกิจดังกล่าว คือ โครงการสร้างงานสร้างอาชีพ ฝึกทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรม เรือนจำกลางสมุทรปราการ หรือ สมุทรปราการโมเดล ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้นำร่องเพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับสังคมและผู้ประกอบการมากยิ่งขึ้น

โดยใช้กลไกการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษคุมความประพฤติ และติดกำไล EM โดยผู้ประกอบการเป็นผู้จัดหาที่พักพิง และรับเป็นผู้อุปการะดูแลตลอดการทำงาน มีค่าจ้างและสวัสดิการตามกฎหมายแรงงาน

ตั้งแต่วันที่ 20 ก.ย.2564 ได้รับผู้ร่วมโครงการไปทำงานแล้ว 114 คนเพื่อเป็นการแสดงให้เห็นถึงเจตนารมณ์เดียวกันของทุกภาคส่วนในการสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่มากยิ่งขึ้น ด้วยการเป็นสังคมแห่งการให้โอกาส ให้อาชีพแก่ผู้ต้องขัง

กรมราชทัณฑ์ จึงได้จัดพิธีลงนามในบันทึกความร่วมมือ MOU กับผู้ประกอบการขึ้น และกรมราชทัณข์ยังได้ผสานความร่วมมือกับกรมคุมประพฤติ และผู้ประกอบการ ร่วมกันจัดพิธีปล่อยตัวผู้พ้นโทษออกไปทำงาน โดยติดกำไล EM 41 คน จาก 2 บริษัท ได้แก่ บริษัท รีเทล บิซิเนส โซลูชั่นส์ จำกัด (RBS)และบริษัท ไต้ทงแมชินเนอรี่ จำกัด รวมผู้เข้าร่วมโครงการนี้แล้ว ทั้งสิ้น 145 คน

ด้านนายวิตถวัลย์ อธิบดีกรมคุมประพฤติ กล่าวว่า เรามีการประสานงานใกล้ชิด มีกำไลติดตามตัวคุมประพฤติ มีการกำหนดขอบเขต หากฝ่าฝืนจะมีการแจ้งไปยังศูนย์และส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ นอกจากนี้ยังมีอาสาสมัครคุมประพฤติช่วยดูแลอีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาเรามีผู้สวมกำไลไปแล้ว 74,000 กว่าราย ซึ่งไม่มีปัญหาอะไร ขอให้ผู้ประกอบการทุกท่านสบายใจได้

นายวิริศ กล่าวว่า การนิคมอุตสาหกรรมพร้อมที่จะให้การสนับสนุนโครงการ การสร้างงานสร้างอาชีพให้ผู้พ้นโทษเป็นเรื่องที่ดี และสามารถทดแทนแรงงานต่างชาติที่ขาดแคลนได้

ขณะที่นายสมศักดิ์ รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า กระทรวงได้มุ่งเน้นการลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรมและความสงบสุขในสังคม ภารกิจด้านการควบคุมและพัฒนาพฤตินิสัยผู้กระทำผิดนับเป็นภารกิจสำคัญในการสร้างสังคมให้สงบสุขและปลอดภัย

โดยกรมราชทัณฑ์ได้มุ่งมั่นที่จะพัฒนา แก้ไข และให้โอกาสแก่ผู้กระทำผิดในการกลับตนเป็นพลเมืองที่ดี ให้มีการศึกษา อบรมศีลธรรมคุณธรรม การฝึกอาชีพที่หลากหลายทั้งเกษตร ปศุสัตว์ การบริการท่องเที่ยวตามความถนัดและตรงกับความต้องการของตลาดแรงงาน

ผลักดันให้เกิดการสร้างงาน สร้างอาชีพให้มีความมั่นคง ยั่งยืน ตนมีแนวคิดให้ศึกษาการจัดตั้งนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ เพื่อสร้างพื้นที่และเปิดโอกาสให้กับผู้เคยพลั้งพลาดได้มีชีวิตและอนาคตใหม่ที่ดีเปลี่ยนภาระให้เป็นพลัง เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพ เป็นขุมกำลังแรงงานสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ และช่วยลดความแออัดในเรือนจำได้อีกทางหนึ่งด้วย

ในขณะที่รอการสร้างนิคมอุตสาหกรรมราชทัณฑ์ ตนจึงได้มอบกรมราชทัณฑ์ทดลองนำนักโทษความประพฤติดี ออกไปทำงานในภาคอุตสาหกรรมคู่ขนานกันไป เพื่อนำร่องและสร้างความเชื่อมั่น โดยคนที่ได้รับสิทธิต้องเป็นผู้ต้องขังชั้นดีไม่ใช่พวกบัวใต้น้ำหรือกลุ่มคดีร้ายแรงที่ต้องเฝ้าระวัง

ความประทับใจในแรงงานที่กรมราชทัณฑ์เตรียมความพร้อมไว้แล้วการลงนามบันทึกข้อตกลง ว่าด้วยความร่วมมือ MOU ในวันนี้ นับว่าเป็นนิมิตหมายที่ดี ในการเดินหน้าลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และความสงบสุขในสังคมร่วมกัน

การส่งเสริมทักษะทางอาชีพจะเปรียบเสมือนการให้โอกาสและเป็นประตูบานแรกที่สำคัญให้แก่ผู้พ้นโทษ ได้มีโอกาสในการทำงาน ยกระดับความรู้ความสามารถ ของผู้พ้นโทษที่ผ่านการฝึกฝนจนเกิดทักษะ ความชำนาญไปสู่การเป็นแรงงานที่มีคุณภาพของประเทศได้วันนี้ นอกจากการลงนามความร่วมมือกันแล้ว ยังเป็นวันสิ้นสุดของการใช้ชีวิตในเรือนจำ และเป็นก้าวแรกสู่อิสระภาพของผู้ได้รับการพักการลงโทษจำนวนหนึ่งที่มีความประพฤติดี

จากนั้นเป็นพิธีปล่อยตัวนักโทษเด็ดขาดออกทำงานโครงการสร้างงานสร้างอาชีพฝึกทักษะการทำงานในภาคอุตสาหกรรม (พักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ) สมุทรปราการโมเดล โดยนายสมศักดิ์และคณะได้ร่วมกดปุ่มปล่อยตัว

ติดกำไล EM และได้พบปะพูดคุย ให้กำลังใจแก่ผู้พ้นโทษ และญาติที่มารอรับ นายสมศักดิ์ กล่าวว่า "ผมขอเป็นกำลังใจให้ทุกคนที่ผ่านโครงการนี้ ขอให้จงมุ่งมั่นตั้งใจที่จะพัฒนาตนเอง อยู่ในระเบียบของสังคม เป็นพลเมืองดีของชาติ เพื่อสร้างอนาคตใหม่ที่ดี โดยไม่กลับมากระทำผิดซ้ำ อย่าทำให้ผิดหวัง

เรามีฝีมือขอให้ใช้อย่างเต็มที่ เพื่อตัวเองและเพื่อนๆที่จะเป็นรุ่นต่อไป และหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการดำเนินการโครงการลักษณะเช่นนี้จะเป็นตัวแบบความสำเร็จเพื่อจะได้ขยายผลการดำเนินการออกไปในพื้นที่จังหวัดอื่นๆ ต่อไป" โดยทางกลุ่มญาติผู้พักโทษ ได้กล่าวขอบคุณนายสมศักดิ์ที่ได้ให้โอกาสและดูแลญาติของตนให้ดีที่สุด

ส่วนทางกลุ่มผู้พักโทษ กล่าวขอบคุณนายสมศักดิ์ที่ให้โอกาส สัญญาว่าจะเป็นคนดี ตั้งใจทำงาน ไม่กลับมาทำผิดอีก