รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 430,916 คน ตายเพิ่ม 7,484 คน รวมแล้วติดไปรวม 237,491,218 คน เสียชีวิตรวม 4,848,220 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา สหราชอาณาจักร ตุรกี รัสเซีย และเยอรมัน
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 92.97 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 88.66
สำหรับสถานการณ์ไทยเรา
เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 11,200 คน สูงเป็นอันดับ 11 ของโลก อันดับ 4 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 1 ของอาเซียน
แต่หากรวม ATK อีก 4,783 คน จะสูงเป็นอันดับ 7 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย เป็นรองเพียงตุรกีและอินเดีย
เรื่องวัคซีน
ทั่วโลกนั้นมีวัคซีนเป็นอาวุธสำคัญในการต่อสู้กับโรคระบาด
เรื่องปริมาณนั้นเป็นเรื่องสำคัญก็จริง แต่เรื่องคุณภาพมาตรฐานก็เป็นเรื่องที่สำคัญไม่แพ้กัน
คุณภาพมาตรฐานนั้นมีความตรงไปตรงมา เพราะสามารถประเมินได้จากข้อมูลวิชาการแพทย์ที่พิสูจน์ประสิทธิภาพและความปลอดภัยตามขั้นตอนวิจัยมาตรฐานสากล และส่งผลต่อการยอมรับของนานาประเทศ ทั้งในวงการแพทย์เอง และรวมถึงด้านอื่น เช่น การออกกฎยอมรับให้มีการเดินทางระหว่างประเทศหากมีประวัติรับวัคซีนที่ได้มาตรฐานสากล จะเดินทางท่องเที่ยว ไปทำธุรกิจ หรือไปเรียนต่อต่างประเทศก็ตาม
งานวิจัยเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน
มีความพยายามของนานาประเทศที่จะหามาตรการเพื่อสะกิดพฤติกรรม (Nudge) ให้ประชาชนในประเทศไปรับการฉีดวัคซีน เพื่อหวังจะลดการป่วย ลดการเสียชีวิต
หลายงานวิจัยได้ชี้ให้เห็นว่า การให้ข้อมูลความรู้ ประชาสัมพันธ์ และใช้วิธีกระตุ้นเตือน (reminder) เช่น ส่งข้อความ sms ฯลฯ จะช่วยให้คนเข้าถึงวัคซีนได้มากขึ้นได้ในช่วงแรกๆ ที่ประเทศยังมีการฉีดไม่มากนัก
แต่ในประเทศพัฒนาแล้ว ที่มีการฉีดครอบคลุมไปพอสมควร เช่น ราว 70% ของประชากร วิธีต่างๆ ข้างต้นเริ่มมีความอิ่มตัว ไม่สามารถกระตุ้นให้คนมารับวัคซีนมากขึ้น
Mercade PC และคณะ จากเดนมาร์ก สวีเดน สวิสเซอร์แลนด์ และอเมริกา ได้ทำการศึกษาผลของการสะกิดพฤติกรรมแบบต่างๆ ในประชากรประเทศสวีเดน โดยออกแบบการวิจัยเชิงทดลองแบบสุ่มและมีกลุ่มเปรียบเทียบ ตีพิมพ์ในวารสาร Science วันที่ 7 ตุลาคม 2021
พบว่าในสถานการณ์ที่คนในประเทศได้รับวัคซีนไปกว่า 70% นั้น การสะกิดพฤติกรรมที่ทำให้คนตั้งใจไปฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้น คือ การให้รางวัลจูงใจ (incentive) โดยในการศึกษานี้มีการให้รางวัลจูงใจเป็นเงินรางวัล ราว 770 บาท (200 Krona หรือประมาณ 24 ดอลล่าร์สหรัฐ) ทั้งนี้ทำให้เพิ่มอัตราการรับวัคซีนเพิ่มขึ้น 4.2%
ในขณะที่วิธีอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการกระตุ้นเตือน การใช้ข้อมูลความรู้ การชี้ชวนจูงใจด้วยเหตุผล หรือแม้แต่การชี้ให้เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้นต่อสังคมนั้น ไม่ได้ผล
ถือเป็นงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่น่าสนใจ และเก็บไว้เป็นข้อมูลเพื่อพิจารณาในอนาคต
สถานการณ์ปัจจุบันของเรานั้น สัดส่วนการฉีดวัคซีนครบโดสยังไม่มาก และยังมีความหลากหลายของสูตรที่ใช้และวิธีการฉีด การตัดสินใจของประชาชนคงขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ข้างต้นตามที่กล่าวมา
ดีที่สุดคือ การติดตามข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง ค้นหาให้รู้แจ้ง และถามไถ่ผู้รู้หรือบุคลากรทางการแพทย์ให้เกิดความเข้าใจอย่างถ่องแท้ ทั้งเรื่องประสิทธิภาพและความปลอดภัย และประเมินความเหมาะสมสำหรับตนเองและครอบครัว
การระบาดยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง ใส่หน้ากากสำคัญมาก
สำหรับการฉีดวัคซีนโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า ตั้งแต่วันที่ 28 ก.พ.-6 ต.ค. 64 มีการฉีดสะสมแล้วจำนวน 57,387,052 โดส แบ่งเป็นเข็มที่ 1 จำนวน 33,774,684 ราย เข็มที่ 2 จำนวน 22,005,722 ราย และเข็มที่ 3 จำนวน 1,606,646 ราย