ติดเชื้อโควิด-19 ใต้ยังหนัก หมอนิธิพัฒน์แนะตั้ง ศบค.เฉพาะกิจภาคใต้

15 ต.ค. 2564 | 02:25 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ต.ค. 2564 | 09:56 น.

หมอนิธิพัฒน์เผยแม้โควิด-19 ในประเทศจะลดลง แต่กลุ่มอาการลองโควิดยังหลงเหลือ ชี้สถานการณ์ติดเชื้อภาคใต้น่าห่วง แนะตั้งศบค.เฉพาะกิจภาคใต้ดูแลสถานการณ์

รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า 
กลิ่นนั้นสำคัญไฉน โดยเฉพาะเมื่อเกี่ยวกับโควิด เราคงคุ้นเคยกับอาการจมูกไม่รับกลิ่นหรือรับกลิ่นน้อยลงกันมานานมากแล้ว ซึ่งอาการนี้ยังอาจหลงเหลือเป็นส่วนหนึ่งของ “กลุ่มอาการลองโควิด” ได้ แต่จะค่อยๆ จางหายเมื่อเวลาผ่านไป หลงเหลือก็แต่ร่องรอยเพียงน้อยนิด 
หมอนิธิพัฒน์ระบุว่า  ช่วงนี้ชักได้กลิ่นทะแม่งๆ โชยมา 3 กลิ่น ที่อาจเป็นลางบอกเหตุให้ควรกังวล หรือถ้าคิดแบบโลกสวย อาจเป็นเคล็ดไม่ให้เกิดความกังวลในอนาคตก็ได้ ลองไล่เลียงกันไปทีละกลิ่นดู        
เริ่มจากวันก่อนตรวจผู้ป่วยในคลินิกโรคปอดรายหนึ่งเสร็จ เป็นคุณลุงวัยเกิน 70 ปีที่ดูแลผ่านร้อนผ่านหนาวยามเผชิญโรคร้ายรุมเร้ากันมากว่า 20 ปี ท่านยื่นซองน้อยสีชมพูที่หาดูกันได้ยากแล้วในปัจจุบัน พร้อมกับเอื้อนเอ่ยว่า ไว้เป็นค่าน้ำมันนะหมอ เอ๊ะ...หรือท่านเตือนว่า ชีพจรอาจต้องลงเท้า ให้ได้ขับรถไปเที่ยวตระเวนเยี่ยมศิษย์รับมือโควิดระลอกใหม่ ได้กล่าวตอบรับและขอบคุณท่านไป พร้อมขออนุญาตท่านนำเงินในซองไปบริจาคเข้าโครงการต่อลมหายใจ ในศิริราชมูลนิธิ เผื่อใช้ในการจัดหาเครื่องมือทางการแพทย์ต่อสู้กับโควิดไว้สนับสนุนให้กับโรงพยาบาลที่ขาดแคลน 

กลิ่นถัดมา หลังอ่านแถลงการณ์ค่อนข้างยาวของนายกรัฐมนตรีเรื่องโควิด โดยกำกับว่าเป็นก้าวเล็กๆ แต่เป็นก้าวที่สําคัญ ระหว่างการเลือกปกป้องชีวิตหรือปกป้องปากท้องประชาชน ที่จริงการปกป้องทั้งสองสิ่งนี้ไม่ควรคิดแยกจากกันโดยเด็ดขาด ต้องประมวลผลให้รอบด้านและกำหนดเป็นนโยบายที่ต้องพิจารณาควบคู่กันไปเสมอ ขอบคุณท่านที่ให้เกียรติรับฟังข้อเสนอแนะจากบุคลากรสาธารณสุขตลอดเวลาปีกว่าที่ผ่านมา 
หวังว่าเสียงสะท้อนของพวกเราจะถูกนำไปประมวลผลเชิงนโยบายอย่างใส่ใจเช่นนี้ต่อไป การจะเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวความเสี่ยงต่ำ คงไม่ก่อปัญหาอะไรนักเว้นการนำเข้าเชื้อกลายพันธุ์ที่ท่านกังวล ซึ่งน่าจะไม่เหลือวิสัยบุคลากรเราในการตรวจจับและควบคุม แต่สิ่งสำคัญที่จะตามมาอื่นๆ อีกมากมาย คือ 

รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล
จะมีกิจกรรมนอกบ้านของคนในประเทศมากขึ้นๆ โดยเฉพาะกิจกรรมการรวมกลุ่มซึ่งสุ่มเสี่ยงอย่างที่เห็นกันมาในอดีต โดยหน่วยงานที่มีหน้าที่รับผิดชอบกำกับดูแล ไม่สามารถปฏิบัติในมอบหมายให้ได้ดั่งใจของประชาชน ในโรดแมปที่แสดงมาหลายกระบุงโกยนั้น ไม่ได้ให้หลักประกันที่ชัดเจนกับประชาชนเลยว่า จะทบทวนมาตรการโดยยอมรับสถานการณ์การควบคุมโรคได้ที่ระดับใด เช่น 

จำนวนผู้ป่วยอาการหนักและอัตราการใช้เตียงไอซียูโควิด ที่ปัจจุบันแม้จะลดลงจากจุดสูงสุดเมื่อกลางเดือนสิงหาคมมากว่าครึ่งหนึ่งแล้ว แต่ผู้ป่วยที่ตกค้างอยู่และเพิ่มเข้ามาใหม่ช้าๆ ยังคงเป็นกลุ่มเปราะบางที่การพยากรณ์โรคไม่ดี และต้องใช้ทรัพยากรสุขภาพในการดูแลมากเป็นพิเศษ หากมีการระบาดของโรคเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน จนทำให้จำนวนผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มจากระดับ 3,000 คนในขณะนี้ ไต่ไปเรื่อยๆ จนแตะที่ 4,000 คน รับรองว่าความโกลาหลหนักจะมาเยือนใหม่แน่ แล้วเราก็จะต้องมานั่งขบคิดเลือกระหว่างปกป้องชีวิตกับปากท้องกันรอบใหม่อีกครั้ง โปรดใส่ใจมัชฌิมาปฏิปทาเพื่อเลือกเดินในทางสายกลาง จักเป็นคุณมากกว่าโทษ      
กลิ่นสุดท้าย คือเค้าลางความยุ่งยากของสถานการณ์โควิดในภาคใต้ ที่ร้อนระอุจนใกล้ย่างเข้าสู่เหตุวิกฤตเหมือนในกทม.และปริมณฑลเมื่อสองเดือนก่อน โดยมีความยากจากลักษณะเฉพาะในบริบททางสังคมและวัฒนธรรมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย จนบัดนี้ยังไม่เห็นแผนการแก้ไขที่ชัดเจนของหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องแสดงออกมามากนัก 
ในยามที่มีแต่กระแสเรื่องการผ่อนคลายควบคู่ไปกับการเตรียมตัวทางการเมืองสู่การเลือกตั้งทั้งในระดับประเทศและระดับท้องถิ่นที่จะนำร่องมาก่อน อยากเห็นการขับเคลื่อนบูรณาการสรรพกำลังของหน่วยงานภาครัฐและภาคประชาชนเข้าแก้ไขปัญหาอย่างเต็มความสามารถ ทั้งหน่วยงานในพื้นที่และหน่วยงานนอกพื้นที่ที่สถานการณ์โควิดเริ่มเบาบาง แม้ส่วนตัวจะไม่ชอบเห็นการรวมอำนาจเข้ามาจากระบบปกติที่มีอยู่เดิม แต่ของที่มีอยู่ค่อนข้างจะง่อยเปลี้ยในการทำงานร่วมกันเพื่อรับมือกับภาวะวิกฤต รูปแบบ ศบค.เฉพาะกิจภาคใต้ อาจเป็นตัวเลือกที่ต้องหันมาพิจารณา
ปิดท้ายกันด้วยเรื่องเชิงวิชาการของกลิ่นกับโควิด ปกติมนุษย์และสิ่งมีชีวิตทั้งหลาย จะมีการปล่อยกลิ่นบางอย่างออกมาในน้ำลาย ลมหายใจ และทวารอื่นของร่างกาย โดยเฉพาะสารพวก volatile organic compounds (VOCs) ซึ่งเมื่อเราเจ็บป่วย เช่น มีการติดเชื้อบางชนิด หรือ เกิดโรคมะเร็งในบางอวัยวะ จะมีการสร้างกลิ่นที่มีลักษณะจำเพาะขึ้นมาแตกต่างจากกลิ่นของคนปกติทั่วไป

โควิด-19 ใต้ยังหนัก
เรื่องแรกเป็นของทีมนักวิจัยจากโคลัมเบีย ดินแดนขึ้นชื่อในการใช้สุนัขดมกลิ่นหายาเสพติด เขาฝึกน้องหมาสามตัวให้คุ้นชินกับการแยกแยะกลิ่นน้ำลายของคนที่ป่วยด้วยโรคโควิด-19 จากคนไข้อื่นและจากเจ้าหน้าที่รพ.ที่ไม่ป่วย จากนั้นได้นำไปทดสอบในสถานการณ์จริงกับผู้ใช้บริการในสถานีขนส่งมวลชน พบว่าความสามารถในการแยกได้ถูกต้องเมื่อน้องหมาไม่ได้กลิ่นผิดปกติ ยังคงสูงลิ่วกว่า 99% เหมือนช่วงทดลอง แต่ความสามารถในการแยกได้ถูกต้องเมื่อน้องหมาได้กลิ่นอายของโควิด ตกลงมาจาก 70% เหลือเพียง 30% ทั้งนี้อาจเป็นผลจากตัวกวนในช่วงระยะต่างๆ ของการดำเนินโรค และกลิ่นรบกวนที่อาจมาจากเหตุอื่นในชีวิตจริง                                                                                                     
อีกเรื่องหนึ่งมาจากทีมนักวิจัยจีนเจ้าเก่า เกิดไอเดียนำ AI มาใช้งานแทนจมูกและสมองของน้องหมา เพื่อวิเคราะห์กลิ่นของ VOCs 12 ชนิดที่ได้จากลมหายใจของผู้ป่วยโควิด แยกแยะจากกลุ่มคนอื่นคล้ายในการทดลองเรื่องแรก แถมมีเพิ่มผู้ป่วยติดเชื้อในระบบการหายใจอื่นที่ไม่ใช่โควิดเข้ามาด้วย คงกลัวว่าเมื่อใช้งานสุนัขดมกลิ่นไปนานๆ เข้าแล้ว เจ้าตัวอาจใส่เกียร์ว่างทำงานไม่คงเส้นคงวา เลียนแบบมนุษย์ที่คอยมีหน้าที่ควบคุมคล้ายเหตุเกิดขึ้นจริงในสถานการณ์โควิดของประเทศไทย ผลปรากฏว่าเจ้าสมองกลทำหน้าที่แยกแยะได้ผลดีไม่ต่างจากสมองของเจ้าสัตว์หน้าขน เพียงแต่ว่ายังไม่ได้มีการนำไปทดลองใช้ในสถานการณ์จริง      
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 15 ตุลาคม 64 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรวม 10,486 ราย มาจาก ผู้ติดเชื้อรายใหม่ 10,319 ราย ติดเชื้อภายในเรือนจำ/ที่ต้องขัง 167 ราย  ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,733,327 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 94 ราย หายป่วย 10,711 ราย กำลังรักษา 107,606 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,609,035 ราย