ศบค.ยังห้าม17จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวเปิดผับ-บาร์แม้คลายล็อก1พ.ย.นี้

23 ต.ค. 2564 | 01:45 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2564 | 09:10 น.

ศบค.ย้ำห้าม 17 จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวพื้นที่สีฟ้า เปิด ผับ-บาร์ แม้คลายล็อก ยกเลิกเคอร์ฟิว 1 พ.ย.นี้ แต่ให้หน่วยงานและผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อการผ่อนคลายในอนาคตได้

แพทย์หญิงอภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) กล่าวว่า  เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยมีแนวโน้มไปในทางที่ดีขึ้น รัฐบาลจึงเห็นความจำเป็นว่าจะต้องมีการฟื้นฟูประเทศ เพื่อประโยชน์ในด้านการใช้ชีวิตและด้านเศรษฐกิจแก่ประชาชนดังนั้นในเบื้องต้นจึงให้มีการเปิดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว เพื่อเป็นปัจจัยเอื้อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางมาจากต่างประเทศได้มากขึ้น อันจะเป็นประโยชน์ต่อระบบเศรษฐกิจและการจ้างงานในภาพรวมของประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้องทั้งนี้จะต้องยึดหลักว่า ต้องให้ประชาชนมีความปลอดภัย

รวมทั้งสร้างความมั่นใจแก่นักท่องเที่ยวต่างชาติและประชาชน อันจะส่งผลให้การขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและสังคมสาารถดำเนินการควบคู่ไปกับมาตรการด้านสาธารณสุขได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังที่เริ่มปฏิบัติกันในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกที่มีสถานการณ์คล้ายคลึงกัน โดยกำหนดพื้นที่เปิดรับนักท่องเที่ยวดังนี้

 

1.การกำหนดพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้มีการกำหนดเขตพื้นที่นำร่อง(Sandbox)ด้านการท่องเที่ยวขึ้น เพื่อดำเนินการขับเคลื่อนด้านเศรษฐกิจของประเทศควบคู่กับการกำหนดมาตรการควบคุมและป้องกันโรคแบบบูรณาการ โดยการกำหนดเขตพื้นที่ใดให้เป็นเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวให้เป็นไปตามคำสั่งศูนย์บริหารสถานการณ์ฉุกเฉิน(ศบค.) ซึ่งอาจมีการปรับเปลี่ยนตามสถานการณ์ได้

2 การกำหนดมาตรการควบคุมแบบบูรณาการในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้สถานที่ กิจการ หรือการดำเนินกิจการในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว สามารถเปิดดำเนินการได้ ภายใต้เงื่อนไข เงื่อนเวลา การจัดระบบ ระเบียบ และมาตรการ ป้องกันการติดเชื้อแบบครอบจักรวาล (Universal Prevention) มาตรการปลอดภัยสำหรับองค์กร (Covid Free Setting) รวมทั้งมาตรการด้านกฎหมายว่าด้วยโรคติดต่อที่ผู้รับผิดชอบในแต่ละพื้นที่กำหนดขึ้นเป็นการเฉพาะ

 

 

ศบค.ยังห้าม17จังหวัดนำร่องท่องเที่ยวเปิดผับ-บาร์แม้คลายล็อก1พ.ย.นี้

 

3 การยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน ให้ยกเลิกการห้ามออกนอกเคหสถาน ในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเดิมเคยกำหนดให้เป็นเขตพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวดจากการจำแนกจังหวัดตามพื้นที่สถานการณ์ แต่ได้มีคำสั่งกำหนดให้พื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวตามข้อกำหนดนี้ ทั้งนี้ ให้มีผลตั้งแต่เวลา 23.00 น.ของวันที่ 31 ตุลาคม พ.ศ.2564

 

อย่างไรก็ตามการยกเลิกเคอร์ฟิวพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว ตาม“ข้อ 3 นี้คือการยกเลิกเคอร์ฟิวในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยวสีฟ้า ในจังหวัดที่อยู่ในพื้นที่สีแดงเข้ม ซึ่งก็คือพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด หรือพื้นที่สีฟ้า 17 จังหวัดที่เคยระบุไว้ก่อนหน้านี้ ก็จะมีการยกเลิกเคอร์ฟิว เริ่มตั้งแต่ 1 พ.ย.นี้” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

 

4 การห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ห้ามจัดกิจกรรมซึ่งมีการรวมกลุ่มกันของบุคคลที่มีจำนวนรวมกันมากกว่า 500 คน ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว

 

กล่าวคือในพื้นที่สีฟ้าหรือจังหวัดนำร่องด้านการท่องเที่ยวนี้สามารถจัดกิจกรรมได้ แต่ไม่เกิน 500 คน และให้นำวิธีปฏิบัติในส่วนของข้อห้ามการจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค ขั้นตอนการขออนุญาตจัดกิจกรรม การพิจารณาอนุญาต รวมทั้งกิจกรรม หรือการรวมกลุ่มที่ได้รับการยกเว้น ให้สามารถจัดได้โดยไม่ต้องขออนุญาตตามข้อ 4 และข้อ 5 แห่งข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 30) ลงวันที่ 1 สิงหาคม พ.ศ.2564 ที่ออกมาก่อนหน้านี้มาใช้บังคับด้วย

 

 5. ถือว่ามีความสำคัญ คือการเตรียมความพร้อมของสถานบริการหรือสถานที่เสี่ยงต่อการแพร่โรคในพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ในระยะเริ่มแรกของการดำเนินการเปิดเขตพื้นที่สีฟ้านำร่องด้านการท่องเที่ยว ให้สถานบริการ สถานประกอบการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ แม้จะตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ยังคงปิดดำเนินการไว้ก่อนในช่วงเวลานี้

 

โดยให้หน่วยงานและผู้ประกอบการเตรียมความพร้อมเพื่อการผ่อนคลายในอนาคตได้ ตามที่ได้ประกาศไว้แล้วในข้อกำหนดออกตามความในมาตรา 9 แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 (ฉบับที่ 35) ลงวันที่ 15 ตุลาคม พ.ศ.2564 เพื่อให้สามารถเปิดดำเนินการได้ต่อไปตามแผนและกรอบเวลาที่รัฐบาลจะประกาศกำหนด

 

“สถานบันเทิง ผับ บาร์ คาราโอเกะ แม้จะตั้งอยู่ในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว ยังคงขอให้ปิดไว้ก่อน” แพทย์หญิงอภิสมัย กล่าวทิ้งท้าย

 

 

 6. การปรับระดับพื้นที่สถานการณ์ย่อยภายในเขตพื้นที่นำร่องด้านการท่องเที่ยว และการกำหนดมาตรการเพิ่มเติมของแต่ละจังหวัด ขอให้ผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พิจารณาเพิ่มเติม และสามารถสั่งปิดได้ กรณีที่มีการแพร่ระบาดในพื้นที่นั้นๆเพิ่มขึ้น

 

 7. การกำหนดผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรเพิ่มเติม เพื่อเอื้อต่อการเดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร ของบุคคลที่เดินทางมาจากประเทศต้นทาง ซึ่งได้รับการประเมินตามเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

 

 

 8. มาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร การกำหนดมาตรการป้องกันโรคสำหรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรบางประเภท

 

“เช่นมาจากประเทศที่ได้รับการอนุญาต หรือมีหนังสือรับรอง หรือหลักฐานการลงทะเบียนการเดินทางที่ชัดเจน มีการตรวจยินยันว่าไม่มีการติดเชื้อโควิด มีหลักฐานการแสดงว่าได้รับวัคซีนครบ มีหลักฐานการชำระเงินค่าที่พัก รวมถึงการมีกรมธรรม์ประกันภัย และประกันสุขภาพด้วย” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว ทั้งนี้ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2564 เป็นต้นไป

 

 

 

สำหรับการรับผู้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักร หรือการเดินทางเข้ามาในประเทศไทย ซึ่งรวมถึงคนไทยและชาวต่างชาติ กำหนดแบ่งกลุ่มเป็น 3 ประเภทด้วยกัน

 

 

กลุ่มที่1 คือการเดินทางเข้าประเทศแบบไม่กักตัว มี 45 ประเทศบวกกับเขตบริหารพิเศษฮ่องกง (วัคซีนครบ ไม่กักตัว ) โดยในส่วนของเข็มที่สองจะต้องมีระยะ 14 วันก่อนการเดินทาง มีการตรวจหาเชื้อโควิดด้วยวิธี RT-PCR ภายใน 72 ชั่วโมงก่อนการเดินทาง และมีผลยืนยันเป็นลบ มีประกันสุขภาพอย่างน้อย 50,000 เหรียญสหรัฐ ต้องมาทางอากาศเท่านั้น รวมถึงต้องใบจองที่พัก เป็นต้น รวมถึงต้องดาวน์โหลดแอพลิเคชัน และสามารถติดตามตัวได้ว่าเดินทางไปที่ไหนอย่างไรด้วย

 

 

“ส่วนคนไทยที่เดินทางเข้าประเทศไทย หรือชาวต่างชาติที่พำนักอยู่ในประเทศไทย ไม่ต้องมีเรื่องของประกันที่ครอบคลุม 50,000 เหรียญสหรัฐ ส่วนการเดินทางเน้นเดินทางทางอากาศเท่านั้น และในท่าอากาศยานหลักคือสุวรรณภูมิ ดอนเมือง เชียงใหม่ ภูเก็ต สมุย อู่ตะเภา และบุรีรัมย์ ซึ่งต้องเป็นการเช่าแบบเหมาลำเท่านั้น” แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว

 

กลุ่มที่2 การเข้าพื้นที่นำร่องท่องเที่ยว (แซนด์บ็อกซ์) เช่นสมุย พังงา กระบี่ เป็นต้น ตามเงื่อนไขที่กำหนด (วัคซีนครบ ไม่จำกัดประเทศ ) ใช้หลักการเดียวกับกลุ่มที่ 1 คือได้รับวัคซีนครบ 2 เข็ม มีการตรวจหาเชื้อดควิด 72 ชั่วดมงก่อนการเดินทาง มีประกันสุขภาพ และหลักฐานการจองที่พัก มีการตรวจโควิดซ้ำในวันที่ 6 หรือ 7 ก่อนที่จะออกจากแซนด์บ็อกซ์นั้น

 

กลุ่มที่3  เป็นกลุ่มคนที่ไม่เข้าเกณฑ์ทั้ง 2 ประเภท การเข้าสถานที่กักกันตามที่ราชการกำหนด (วัคซีนไม่ครบ ไม่จำกัดประเทศ) กลุ่มนี้อาจจะยังไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับวัคซีนไม่ครบ หรือฉีดเข็ม 2 ไม่ครบ 14 วันก่อนการเดินทาง รวมทั้งคนที่มาจากประเทศอื่นๆ นอกจาก 45 ประเทศ บวก 1 เขตบริหารพิเศษฮ่องกง เมื่อเข้ามาในประเทศไทยแล้ว จะต้องอยู่ในสถานที่กักกันตามที่ราชการกำหนด เช่น SQ, ASQ ของเอกชน หรือสถานกักกันของหน่วยงาน หรือองค์กร (OQ) หรือ กลุ่มที่เข้ามารับการรักษาตัวในโรงพยาบาล(HQ) ซึ่งจะมีรายละเอียดที่แตกต่างกัน

 

“กรณีที่มีการเปลี่ยนแปลงในสถานการณ์ระบาด หลังมีการประกาศใในวันที่ 1 พ.ย. ไปแล้ว ทางสาธารณสุขและศบค.จะมีการติดตามอย่างใกล้ชิด และหากมีการปรับเปลี่ยนในรายละเอียดจะนำมาเรียนให้ทราบให้ทันการณ์ “ แพทย์หญิงอภิสมัยกล่าว