"หมอยง" ชูสูตรฉีดซิโนแวค+ไฟเซอร์ ในเด็กช่วยลดเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

23 ต.ค. 2564 | 08:39 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ต.ค. 2564 | 15:47 น.

“หมอยง” ชูผลศึกษาสถานการณ์จริง ฉีดไขว้เชื้อตาย “ซิโนแวค” ตามด้วย mRNA “ไฟเซอร์” กระตุ้นภูมิดีเหมือนไขว้ด้วยไวรัสเวกเตอร์ เหตุเชื้อตายเป็นตัวปูพื้นที่ดี หากฉีดเชื้อตายในเด็กได้ ช่วยลดเสี่ยงให้ mRNA 2 เข็ม ที่อาจเกิดกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เผยฉีดห่างยิ่งกระตุ้นภูมิมาก

วันนี้(วันที่ 23 ตุลาคม2564) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ  (หมอยง) หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความเกี่ยวกับการให้วัคซีนโควิด 19 สลับชนิดเชื้อตายกับ mRNA  ว่า วัคซีนเชื้อตาย เป็นตัว prime ที่ดี ทำให้ร่างกายเราเหมือนกับรับรู้ว่าเคยติดเชื้อ เพราะได้รับแอนติเจนทั้งตัวไวรัส เมื่อมีการกระตุ้นด้วย ไวรัสเวกเตอร์หรือ mRNA วัคซีน จะมีผลที่เรียกว่าปฏิกิริยาการกระตุ้น หรือตามประสาวัคซีนเรียกว่า booster effect

ดังที่ทราบกันว่า เมื่อให้วัคซีนเชื้อตายเริ่มต้น แล้วให้ไวรัสเวกเตอร์ที่ใช้อยู่ขณะนี้ กระตุ้นภูมิต้านทานได้ดี และก็เช่นเดียวกัน ถ้าให้วัคซีนเชื้อตายครบ 2 เข็ม แล้วกระตุ้นเข็ม 3 ด้วยไวรัสเวกเตอร์ ก็จะได้ปฏิกิริยาภูมิต้านทานร่างกายตอบสนองที่สูงมาก

 

จากการศึกษาในสถานการณ์จริง ที่มีการฉีดวัคซีนสลับโดยให้เข็มแรก เป็นวัคซีนเชื้อตาย (sinovac) แล้วตามด้วยเข็มที่ 2 เป็น mRNA (pfizer) ปฏิกิริยาการตอบสนองก็เช่นเดียวกัน กับการให้วัคซีนสลับ เชื้อตายกับไวรัสเวกเตอร์ การศึกษาทางคลินิก กำลังดำเนินการต่อไปให้ได้ข้อมูลที่ชัดเจน

 

ในอนาคตถ้าวัคซีนเชื้อตายสามารถใช้ในเด็กในประเทศไทยได้ วิธีการให้สลับโดยเริ่มต้นจากวัคซีนเชื้อตายเข็มแรก แล้วตามด้วย mRNA ก็จะเป็นวิธีการหนึ่งในการหลีกเลี่ยงการให้วัคซีน mRNA เข็มที่ 2 ในเด็ก เพื่อไม่ให้เกิดอาการกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ

สิ่งที่ปรากฏชัดอีกอย่างหนึ่งก็คือว่าปฏิกิริยาการตอบสนอง หรือที่เรียกว่า booster effect จะเกิดได้ดีระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ถ้ายิ่งห่างก็จะมีปฏิกิริยากระตุ้นภูมิได้สูงมาก แต่การเว้นระยะห่างหลังฉีดวัคซีนเข็มแรกเพียงเข็มเดียว จะเกิดการติดเชื้อเสียก่อน เช่น ระยะห่างระหว่างเข็ม 1 และเข็ม 2 ถ้าห่างถึง 3 เดือน จะกระตุ้นภูมิต้านทานได้สูงมาก แต่ไม่ควรทำเพราะจะเกิดการติดเชื้อระหว่างรอเข็ม 2 ได้

 

การศึกษา booster effect เห็นได้ชัดจากการศึกษาตั้งแต่ไวรัสตับอักเสบ บี การให้วัคซีนไวรัสตับอักเสบบี 3 เข็ม ถ้าห่างกันระยะ 1 เดือน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจะไม่แตกต่างกับการให้ 2 เข็มที่ห่างกัน 1 เดือน แต่ถ้าให้เข็ม 3 ห่างออกไปที่ 6 เดือน (0, 1 และ 6) หรือ 12 เดือน ภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังเข็ม 3 จะมีปฏิกิริยาการกระตุ้นที่สูง (booster effect) ดังนั้นกฎเกณฑ์ในการให้วัคซีน ถ้าลืม หรือยังไม่พร้อมในการให้ และเลื่อนออกไป สามารถให้ต่อได้เลย โดยไม่ต้องมีการเริ่มต้นใหม่