เปิดประเทศ รู้จัก “ไทยแลนด์พาส” ขั้นตอนการลงทะเบียนรับ คิวอาร์โค้ด เข้าไทย

27 ต.ค. 2564 | 03:35 น.
อัปเดตล่าสุด :27 ต.ค. 2564 | 17:21 น.

เปิดประเทศ 1 พ.ย. นี้ ชวนมาทำความรู้จัก “ไทยแลนด์พาส Thailand Pass ” พร้อมขั้นตอนการลงทะเบียนรับ คิวอาร์โค้ด เข้าไทย

เกาะติดประเด็น “เปิดประเทศ” ตามที่ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ประกาศเดินหน้าเปิดประเทศแบบปลอดภัย (Smart Entry)

โดยทยอยเปิดรับผู้ที่เดินทางมาจากประเทศที่มีความเสี่ยงต่ำ ว่าได้รับวัคซีนโควิดครบตามข้อกำหนดแบบไม่กักตัวหรือจำกัดพื้นที่ เริ่ม 1 พฤศจิกายนนี้

 

กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล สร้างแพลตฟอร์มใหม่ชื่อ Thailand Pass เพื่อขอรับเอกสารรับรองการเดินทางเข้าประเทศแบบอิเล็กทรอนิกส์ (Thailand Pass QR Code) เริ่ม 1 พฤศจิกายนนี้ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป

แพลตฟอร์ม “ไทยแลนด์พาส Thailand Pass" คืออะไร

เป็นระบบ web-based ที่กระทรวงการต่างประเทศร่วมกับสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (สพร.) จัดทำระบบขึ้นใหม่ และถูกออกแบบมาเพื่อให้กระบวนการจัดทำเอกสารของผู้เดินทางเข้าประเทศไทยอย่างมีประสิทธิภาพ

ใช้แทนการยื่นผ่านระบบขอหนังสือรับรองการเดินทางเข้าประเทศไทย (Certificate of Entry-COE) ออนไลน์ เพื่อสร้างความสะดวกแก่ผู้เดินทางมากยิ่งขึ้นและลดขั้นตอนการอนุมัติที่ไม่จำเป็นลง

มีเป้าหมายเพื่ออำนวยความสะดวกการเดินทาง ภายใต้คอนเซ็ปต์ Ease of Traveling หลังการเปิดประเทศ โดยจะลดขั้นตอนการกรอก/อัพโหลดเอกสารของผู้เดินทางก่อนเข้าประเทศไทย รวมถึงการกรอกข้อมูลผ่าน ต.8 (แบบสำรวจด้านสุขภาพ) และ ตม.6 (แบบเข้า-ออกราชอาณาจักร) ใน Thailand Pass อีกด้วย

Thailand Pass เอกสารสำคัญใช้ลงทะเบียนเพื่อให้รับ “คิวอาร์โคด” 

1.หนังสือเดินทางหรือพาสปอร์ต

2.ใบรับรองการฉีดวัคซีนโควิด

3.ประกันโควิด ซึ่งตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย.2564 เป็นต้นไปผู้เดินทางเข้าไทยต้องมีกรมธรรม์ที่มีความคุ้มครองขั้นต่ำ 50,000 ดอลลาร์

4.หลักฐานยืนยันการจองโรงแรม ASQ หรือยืนยันการจองโรงแรม SHA+

5.สำเนาวีซ่าเข้าประเทศไทยหากจำเป็น

ขั้นตอนการลงทะเบียน

  1. ลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ tp.consular.go.th  (เริ่ม 1 พฤศจิกายน 2564 ตั้งแต่เวลา 09.00 น. เป็นต้นไป)
  2. ผู้ประสงค์เดินทางเข้าประเทศไทย ทั้งคนไทยและต่างชาติ จะต้องเข้าไปลงทะเบียน กรอกข้อมูลและอัพโหลดเอกสารต่าง ๆ ก่อนเดินทางเข้าประเทศไทย
  3. ระยะเวลาดำเนินการสำหรับThailand Pass อยู่ระหว่าง 3 - 5 วัน ขึ้นอยู่กับสถานทูตไทยหรือสถานกงสุลที่ยื่นคำร้อง ขอแนะนำให้ยื่นลงทะเบียนThailand pass อย่างน้อย 7 วันก่อนออกเดินทาง
  4. กรณีได้รับการอนุมัติแล้วผู้ลงทะเบียนจะได้รับอีเมล QR Entry Code หรือ Thailand Pass ID ที่จะใช้เมื่อเข้าสู่ประเทศไทย

กระทรวงสาธารณสุข เตรียมแผนรองรับการเปิดประเทศ 1 พฤศจิกายนนี้  5 ด้าน 

1. การเฝ้าระวังป้องกันควบคุมโรค ตั้งแต่ขั้นตอนลงทะเบียนก่อนเดินทาง ขั้นตอนการตรวจสอบที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และการเดินทางจากท่าอากาศยานจนถึงโรงแรมในลักษณะปิด (Sealed Route) การตรวจหาการติดเชื้อในประเทศ เพื่อมั่นใจว่าผู้เดินทางเข้าประเทศผ่านกระบวนการและไม่มีการติดเชื้อ อีกทั้งมีความปลอดภัยเมื่อท่องเที่ยวในประเทศไทย

2. การตรวจทางห้องปฏิบัติการสำหรับตรวจหาเชื้อโควิดในผู้เดินทางเข้าในประเทศอย่างรวดเร็วแม่นยำ และการตรวจสายพันธุ์กลายพันธุ์

3. มาตรการ COVID Free Setting ในสถานประกอบการพื้นที่เปิดรับนักท่องเที่ยว ประเมินตนเองผ่าน Thai Stop COVID Plus มีใบรับรอง และ QR Code ที่ให้ประชาชนสแกนเพื่อตรวจสอบและประเมินร้องเรียนได้ มีการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมตรวจประเมินทุก 2 สัปดาห์

4. การแพทย์และสาธารณสุข โดยปรับรูปแบบการรักษาพยาบาลที่สอดคล้องกับสถานการณ์ ให้สถานพยาบาลประเมินตนเอง พร้อมเข้าสู่การแพทย์วิถีใหม่ ป้องกันการติดเชื้อในสถานพยาบาล

5. เวชภัณฑ์และการส่งกำลังบำรุง ขณะนี้มียาฟาวิพิราเวียร์ 26.2 ล้านเม็ด ยาเรมเดซิเวียร์ 74,284 ขวด และเวชภัณฑ์ต่างๆ ภาพรวมคงคลังประมาณ 3-6 เดือน และจัดหายาและเวชภัณฑ์เพิ่มเติมต่อเนื่อง

เปิดประเทศ รู้จัก “ไทยแลนด์พาส” ขั้นตอนการลงทะเบียนรับ คิวอาร์โค้ด เข้าไทย

ที่มา : กระทรวงการต่างประเทศ