“เปิดประเทศ” 1 พฤศจิกายน 2564 ในพื้นที่นนำร่อง 17 จังหวัด เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเดินทางเข้ามาประเทศได้มากขึ้น เป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจท่องเที่ยวและภาคธุรกิจบริการที่เกี่ยวข้อง เเละในวันที่ 1 ธ.ค. นี้ จะมีการพิจารณาอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิง และดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในร้านอาหารได้แล้ว
ผลสำรวจของ กรมอนามัย กลับพบว่าประชาชนพื้นที่นำร่อง 17 จังหวัด กังวลกับการเปิดประเทศ ว่าจะมีการระบาดระลอกใหม่จากสถานบันเทิง
มีความกังวล 92.4% โดยเรื่องที่กังวลมากที่สุด ได้แก่ เกิดการระบาดระลอกใหม่ 75.8 % รองลงมา ประชาชนการ์ดตกและไม่ป้องกันตนเอง 49.7 % สถานประกอบการ สถานที่ท่องเที่ยวไม่ปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด
45.10% กลัวตนเองและครอบครัวติดเชื้อ 41% มาตรการการคัดกรองนักท่องเที่ยวที่มาจากต่างประเทศอาจไม่ดีพอ 39.6% กังวลกว่าจะเกิดการล็อกดาวน์อีกครั้ง 37.1 % จำนวนเตียงไม่พอเพียง 31.7 % และอื่นๆ เช่น เศรษฐกิจ ประสิทธิภาพวัคซีน 2.1 %
สถานประกอบการ/กิจการใด ที่กังวลว่าจะเป็นคลัสเตอร์ใหม่หลังจากเปิดเมือง เปิดประเทศ เริ่ม 1 พ.ย.2564 พบว่า สถานบันเทิง ผับ บาร์ 89.2 % เป็นลำดับเเรก
สอดคล้องกับเนื้อหาในเวทีเสวนา “การปรับตัวและความรับผิดชอบของสถานประกอบการที่จำหน่ายสุรา เพื่อรับมือการเปิดประเทศ” ที่มีสาระสำคัญมุ่งไปที่มาตรการป้องกันการแพร่ระบาดโควิดเพื่อไม่ให้เกิด “คลัสเตอร์สถานบันเทิง” หลังการเปิดประเทศ
นพ.คำนวณ อึ้งชูศักดิ์ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ ที่ปรึกษากรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ระบุว่า เรื่องที่น่ากังวลใจหลังการเปิดประเทศ คือ แรงงานต่างชาติที่ทยอยเดินทางเข้ามาทำงานอาจะทำให้เกิดการระบาดในแคมป์คนงานและสถานบันเทิง ที่มีความเสี่ยงเป็นซุปเปอร์เสปรดเดอร์ ดังนั้น ผู้ประกอบการจำเป็นต้องปฎิบัติตามข้อกำหนด
“ต้องยอมรับว่าสถานบันเทิงจะเป็นจุดแตกหักช่วงท้ายปี มีงานเทศกาลต่างๆ สถานบันเทิง ต้องมีความรับผิดชอบสูง ตั้งกติกา ทำให้เป็นระบบ น่าจะลดความเสี่ยงได้ เปิดประเทศ คนไม่ได้กังวลการติดเชื้อจากนอกประเทศ แต่กังวลการติดเชื้อในประเทศ ถ้าเกิดการระบาดอีกก็จะต้องล็อกดาวน์ ต้องออกแบบมาตรการให้รัดกุม ไปช้าๆ ดีกว่าก้าวกระโดด”
นายโกมล พรมเพ็ง รองอธิบดีกรมพินิจและคุ้มครองเด็กและเยาวชน กระทรวงยุติธรรม ระบุว่า โควิดที่ผ่านมาต้องมีการประกาศเคอร์ฟิว ข้อดีคือปัญหาสังคมที่เกี่ยวกับเด็ก เช่น เด็กแว้น ลดลง รวมทั้ง สถานบริการ สถานบันเทิง ก็เข้มงวดมากขึ้น
แต่ที่กังวลก็คือถ้าวันที่ 1 ธ.ค.ให้สถานบันเทิงเปิดให้บริการจะทำอย่างไรเพื่อจะไม่ให้เกิดคลัสเตอร์ใหม่ รัฐบาลจะต้องวางแผนและต้องออกมาตรการควบคุมโรค เพื่อไม่ให้ผู้ประกอบการตายซ้ำ
“ถ้าจัดการไม่ดี จะเกิดวิกฤติทางการแพทย์อีกครั้ง ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าถึงการรักษา เสียชีวิตภายในบ้าน กลุ่มเสี่ยงโดยเฉพาะผู้สูงอายุ เด็ก น่าเป็นห่วงเพราะคือผู้ถูกกระทำจากคนหนุ่มสาวที่เข้าไปใช้บริการสถานบันเทิงโดยไม่มีมาตรการป้องกันโรค ศบค. ต้องประสานผู้บังคับใช้กฎหมาย วางเเผนรอบคอบ ถ้าเกิดเหตุจะได้แก้ปัญหาทันท่วงที”
ด้าน พ.ต.อ.ศิริวัฒน์ ดีพอ รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า เปิดประเทศเป็นสิ่งที่ท้าทายโดยเฉพาะระบบสาธารณสุข ทุกหน่วยงานต้องบูรณาการ ตรวจสอบทุกมิติ ที่ต้องระวังก็คือการเกิดคลัสเตอร์ใหม่
“ต้องมีความร่วมมือ ประเด็นคือ ทำโมเดลออกมาเลย ถ้าจะเปิดสถานบริการ ต้องทำอย่างไร วางมาตรฐาน ทั้งสถานบริการที่มีใบอนุญาต เเละกิจการที่มีลักษณะคล้ายสถานบริการ ฟ้าเปิดเเล้ว ต้องไม่เห็นเเก่ตัว เพื่อไม่ให้เกิดเป็นคลัสเตอร์ใหม่ ตำรวจก็ไม่อยากไปไล่จับ เอาเวลาไปจับคดีอื่นดีกว่า ”
ข้อมูลจาก ร.ท.ภรศิษฐ์ จิตรามวงศ์ เจ้าพนักงานปกครองชำนาญการ สำนักการสอบสวนและนิติการ กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย พบว่า สถานบริการทั่วประเทศมี 2,102 ใบอนุญาต แบ่งเป็น กทม. 275 ใบอนุญาต ภาคกลาง 202 ใบอนุญาต ภาคเหนือ 139 ใบอนุญาต ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 232 ใบอนุญาต ภาคตะวันออก 1,029 ใบอนุญาต ภาคใต้ 225 ใบอนุญาต
“สิ่งที่จะต้องระวังหลังการเปิดประเทศ ผู้ประกอบการมีความกังวลก็คือการสั่งปิด 5 ปี ดังนั้น การชัดเจนเรื่องมาตรการต่างๆ เพื่อให้สถานบริการได้ปฎิบัติเป็นเรื่องสำคัญ ในส่วนนโยบายหลัก กระทรวงมหาดไทย มีการจัดระเบียบสังคม มีวงรอบตรวจตราแนะนำอยู่แล้ว”
สถานบริการเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากมาตรการรัฐในการควบคุมการแพร่ระบาดโควิด สะท้อนโดย นายคฑาวุธ ทองไทย (อาจารย์ไข่ มาลีฮวนน่า) ประธานสมาพันธ์เครือข่ายคนบันเทิงอาชีพแห่งประเทศไทย ระบุว่า อุตสาหกรรมบันเทิงได้รับผลกระทบอย่างหนัก ล็อกดาวน์ก่อน ปลดล็อคทีหลังทุกรอบการระบาด ทั้งที่เป็นวงล้อเศรษฐกิจสร้างสรรค์
“การเปิดประเทศ ก็รู้สึกยินดี แต่ว่าระบบในประเทศดีหรือยัง ต้องการให้เราทำอะไร ขอให้มีความชัดเจน”