รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
17 พฤศจิกายน 2564 ทะลุ 255 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 474,361 คน ตายเพิ่ม 6,982 คน รวมแล้วติดไปรวม 255,045,169 คน เสียชีวิตรวม 5,129,095 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ อเมริกา เยอรมัน สหราชอาณาจักร รัสเซีย และตุรกี
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็นร้อยละ 96.66 ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็นร้อยละ 94.21
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นมากถึง 62.49% ของทั้งโลก พอๆ กับจำนวนเสียชีวิตเพิ่มที่คิดเป็น 61.08%
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 8 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สำหรับสถานการณ์ไทยเรา
เมื่อวานติดเชื้อเพิ่ม 5,947 คน สูงเป็นอันดับ 18 ของโลก
หากรวม ATK อีก 2,073 คน จะขยับเป็นอันดับ 15 ของโลก
จำนวนติดเชื้อใหม่ที่รวม ATK ไทยจะเป็นอันดับ 3 ของเอเชียรองจากตุรกีและเวียดนาม
อัพเดตเรื่องภาวะอาการคงค้างหลังจากเป็นโรคโควิด หรือ Long COVID
Chen C และคณะ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน สหรัฐอเมริกาได้ทำการทบทวนข้อมูลวิชาการอย่างเป็นระบบ เพื่อดูว่าจากรายงานวิจัยของทั่วโลกเกี่ยวกับ Long COVID นั้น จริงๆ แล้วมีอัตราความชุกของภาวะดังกล่าวมากน้อยเพียงใด
มีงานวิจัย 40 ชิ้น มาจากอเมริกาเหนือ 9 ชิ้น อเมริกาใต้ 1 ชิ้น ยุโรป 17 ชิ้น เอเชีย 11 ชิ้น และจากที่อื่นๆ 2 ชิ้น
พบว่าอัตราความชุกโดยเฉลี่ยที่พบภาวะอาการคงค้างของผู้ป่วยโควิดนั้นสูงถึง 43% (ช่วงความเชื่อมั่น 35%-63%)
เพศหญิงมีภาวะดังกล่าวมากกว่าเพศชาย (49% vs 37%)
คนที่ติดเชื้อแล้วป่วยจนต้องนอนโรงพยาบาลจะพบภาวะ Long COVID มากกว่าอัตราเฉลี่ยของทั้งหมด (57%)
ด้วยข้อมูลข้างต้น พอจะทำให้เราทราบได้ว่า ภาวะอาการคงค้างหลังจากป่วยเป็นโรคโควิดนั้นพบบ่อย และจะทำให้เกิดผลกระทบทั้งต่อตัวบุคคลที่ติดเชื้อในแง่สุขภาพกายและใจแล้ว ก็ย่อมส่งผลกระทบให้เกิดความกังวลใจของครอบครัว และอาจส่งผลต่อสมรรถนะในการทำงานหาเลี้ยงชีพและการดำรงชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ภาระโรคต่อระบบสุขภาพย่อมมีมาก ยิ่งหากประเทศใดมียอดติดเชื้อมาก โอกาสที่ต้องเจอปัญหา Long COVID ยิ่งมากขึ้นเป็นเงาตามตัว
หมอธีระ ระบุว่า ใส่หน้ากาก สำคัญมาก อยู่ห่างคนอื่นเกินหนึ่งเมตร ลดอัตราติดเชื้อลงได้ 5 เท่า สองเรื่องนี้เป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 17 พฤศจิกายน 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 6,524 ราย
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,008,361 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 56 ราย หายป่วยเพิ่ม 7,191 ราย กำลังรักษา 91,382 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 1,898,217 ราย