สธ. แจง ผู้เดินทาง 252 คน จาก 8 ประเทศ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำจาก “โอไมครอน”

02 ธ.ค. 2564 | 13:35 น.
อัปเดตล่าสุด :02 ธ.ค. 2564 | 20:44 น.

สธ. แจง กำลังจับตาการติดเชื้อ 30 ประเทศที่พบ “โอไมครอน” ส่วนผู้เดินทางเข้าไทย 252 คน จาก 8 ประเทศเสี่ยง มีความเสี่ยงต่ำเนื่องจากฉีดวัคซีนแล้ว และผ่านการตรวจ 3 ครั้งไม่พบเชื้อ แต่ต้องติดตามมาตรวจเชื้อเพิ่มเพื่อความมั่นใจสูงสุด เผยยังพบคลัสเตอร์ขนาดเล็กจากการรวมตัวกัน

นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงสถานการณ์โควิด 19 ว่า ผู้เดินทางจาก 8 ประเทศที่พบโอไมครอน ประเทศไทยกำหนดไม่ให้เดินทางเข้าประเทศตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคม 2564 ส่วนผู้ที่เดินทางเข้ามาช่วงวันที่ 27-30 พฤศจิกายน ได้ให้กักตัว 14 วัน เช่นเดียวกับผู้เดินทางจากประเทศอื่นในทวีปแอฟริกาและมีการตรวจหาเชื้ออีก 3 ครั้ง และได้มีการติดตามผู้เดินทางจาก 8 ประเทศที่เข้ามาก่อนหน้านี้ จำนวน 252 คน โดยส่งข้อความไปที่แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” และอีเมลที่ใช้ลงทะเบียน Thailand Pass เพื่อแจ้งให้ไปรับการตรวจ RT-PCR ที่โรงพยาบาลรัฐฟรี

สธ. แจง ผู้เดินทาง 252 คน จาก 8 ประเทศ เป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำจาก “โอไมครอน”

คนกลุ่มนี้ไม่ได้เป็นผู้ติดเชื้อและถือเป็นกลุ่มเสี่ยงต่ำ เนื่องจากมีการฉีดวัคซีนครบโดสแล้ว และมีการตรวจหาเชื้อถึง 3 ครั้งผลเป็นลบ คือ ก่อนเดินทางเข้ามา 72 ชั่วโมง เมื่อมาถึงประเทศไทยวันแรก และเมื่ออยู่ในแซนด์บ็อกซ์ครบ 7 วัน ซึ่งผ่านช่วงที่มีโอกาสพบเชื้อสูงที่สุดไปแล้ว เนื่องจากระยะฟักตัวเฉลี่ยของเชื้ออยู่ที่ 2-14 วัน พบสูงสุดช่วง 5-7 วัน และหลัง 7 วันพบค่อนข้างน้อย แต่ที่ให้มารายงานตัวและขอตรวจซ้ำอีกครั้งภายในวันที่ 14 นับตั้งแต่เดินทางถึงประเทศไทยเพื่อความมั่นใจมากขึ้น

ขณะนี้อยู่ระหว่างการติดตามผู้เดินทาง โดยเบื้องต้น สำนักงานควบคุมป้องกันโรคที่ 6 สามารถติดตามได้ครบทั้ง 10 รายที่ได้รับแจ้งข้อมูลแล้ว เนื่องจากเป็นผู้ที่เข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรม

 

ทั้งนี้ หากโรงแรมทราบข้อมูลนักท่องเที่ยวที่เข้าพักว่ามาจากประเทศกลุ่มเสี่ยงสามารถแนะนำให้ไปเข้ารับการตรวจได้ แม้จะเข้าประเทศไทยเกิน 14 วันแล้ว ส่วนคนไทย ขอให้เข้ารับการวัคซีน เข้มมาตรการป้องกันส่วนบุคคล ผู้ให้บริการให้เข้มมาตรการ COVID Free Setting เชื่อว่าการควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ยังอยู่ในแนวทางที่เราจัดการได้

ส่วนประเทศที่พบสายพันธุ์โอไมครอน มี 30 ประเทศ ได้แก่ แอฟริกาใต้ ไนจีเรีย บอตสวานา โมซัมบิก ซิมบับเว นามิเบีย มาลาวี เอสวาตีนี เลโซโท ส่วนทวีปอื่นๆ คือ บราซิล แคนาดา ญี่ปุ่น อิสราเอล ออสเตรีย เกาหลีใต้ สิงคโปร์ ฮ่องกง อังกฤษ ตุรกี เยอรมนี สเปน อิตาลี เนเธอร์แลนด์ เช็ก เบลเยียม สวีเดน โปรตุเกส สวิตเซอร์แลนด์ เดนมาร์ก และออสเตรเลีย ส่วนใหญ่เป็นการติดเชื้อมาจากนอกประเทศ โดยหน่วยงานด้านวิชาการ ด้านระบาดวิทยา และด้านการควบคุมโรค จะติดตามสถานการณ์แต่ละประเทศเกี่ยวกับรายงานการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอไมครอนอย่างใกล้ชิด 

 

สำหรับวันนี้ประเทศไทยมีผู้ป่วยโควิดรักษาหาย 5,402 ราย สูงกว่าติดเชื้อใหม่ที่พบ 4,971 ราย ผู้ป่วยปอดอักเสบและใส่เครื่องช่วยหายใจลดลง ผู้เสียชีวิต 33 ราย ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรัง รวมถึงไม่ได้รับวัคซีนมาก่อน ยังพบคลัสเตอร์ขนาดเล็กในจังหวัดต่างๆ ล่าสุด คือ รวมตัวกันเกี่ยวข้าว 

 

นอกจากนี้ ยังมีแคมป์คนงาน ค่ายทหาร โรงงาน และตลาด ซึ่งการรวมตัวกันเป็นเวลานานหรือรับประทานอาหารร่วมกัน ทำให้มีความเสี่ยงที่จะแพร่หรือรับเชื้อได้ สำหรับการเปิดประเทศ มีการติดตามผู้ติดเชื้อในระบบ Test & Go และ Sandbox พบการติดเชื้อต่ำมาก โดยผู้เดินทางเข้าประเทศวันที่ 1 ธันวาคม 2564 จำนวน 6,304 คน ติดเชื้อ 9 คน คิดเป็น 0.14% 

 

ส่วนการฉีดวัคซีนโควิด 19 เพิ่มขึ้น 521,693 โดส สะสม 93,753,156 โดส ภาพรวม กทม.ฉีดวัคซีนเข็มแรกมากที่สุด 117% ส่วนชลบุรี สมุทรสาคร ภูเก็ต ฉะเชิงเทรา เชียงใหม่ ปทุมธานี และสมุทรปราการ ฉีดเกิน 80% แล้ว ทั้งนี้ ชุมชนที่ยังมีผู้ลังเลไม่แน่ใจ เดินทางไม่สะดวก มีการปรับวิธีการฉีดวัคซีนให้ได้เพิ่มมากขึ้น เพื่อไปให้ถึง 100 ล้านโดส ภายในวันที่ 5 ธันวาคมนี้ อย่างไรก็ตาม พบว่ากลุ่มหญิงตั้งครรภ์ยังฉีดวัคซีนได้น้อย ซึ่งหากติดเชื้อมีโอกาสเกิดอาการรุนแรงและเสียชีวิตสูง จึงขอให้รีบมารับวัคซีน ยืนยันว่าวัคซีนมีความปลอดภัย