โอไมครอนเข้าใกล้ไทย หมอเฉลิมชัยห่วงเชื้อหลุดผ่านช่องทางธรรมชาติ

04 ธ.ค. 2564 | 03:01 น.
อัปเดตล่าสุด :04 ธ.ค. 2564 | 10:01 น.

โอไมครอนเข้าใกล้ไทย หมอเฉลิมชัยห่วงเชื้อหลุดผ่านช่องทางธรรมชาติ หลังประเทศมาเลเซียพบผู้ติดชื้อรายแรกเดินทางกัลมาจากแอฟริกาใต้

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ไทยต้องระวังตัวมากขึ้น โอไมครอนมีโอกาสผ่านช่องทางธรรมชาติ เพราะมาเลเซียพบเคสแรกของโอไมครอนแล้ว
สืบเนื่องจากมีการพบไวรัสกลายพันธุ์สายพันธุ์ใหม่คือ โอไมครอน หรือ โอมมิครอน (Omicron) ที่ประเทศแอฟริกาใต้เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2564 และที่บอตสวาน่าวันที่ 11 พฤศจิกายน 2564
ด้วยเหตุที่ไวรัสมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหนาม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ใช้ในการติดเชื้อในมนุษย์ รวมทั้งเป็นส่วนสำคัญที่วัคซีนชนิดต่างๆ (ยกเว้นวัคซีนเชื้อตาย) ผลิตมาเพื่อต่อสู้เฉพาะส่วนหนามโดยตรง ทำให้องค์การอนามัยโลกต้องประกาศยกระดับให้ไวรัสโอมมิครอนเป็นไวรัสกลุ่มที่น่าเป็นห่วง (VOC) ลำดับที่ 5 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564

ตลอดช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ไวรัสโอไมครอนมีลักษณะการแพร่ระบาดที่กว้างขวางรวดเร็วมาก โดยแพร่ระบาดออกไปนอกทวีปแอฟริกา (ซึ่งมีการระบาดไปแล้ว 10 ประเทศ) โดยอยู่นอกทวีปแอฟริกาถึง 20 กว่าประเทศด้วยกัน มีทั้งในยุโรป เอเชีย อเมริกาเหนือ อเมริกาใต้ และออสเตรเลีย
แต่ในช่วงที่ผ่านมา ก็ยังถือว่าสถานการณ์พอใช้ได้ เพราะทุกประเทศที่พบเคส ล้วนแต่เป็นเคสที่เดินทางมาจากประเทศต้นทางที่เป็นกลุ่มเสี่ยง โดยทางอากาศ สามารถติดตามได้ว่าติดมาจากที่ใดหรือประเทศใด และสามารถกักตัวไว้ได้ค่อนข้างดี

พบเชื้อโอไมครอนรายแรกที่ประเทศมาเลเซีย
แต่การระบาดของไวรัสก่อโรคโควิดที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดสำหรับทุกประเทศคือ ถ้าเป็นการติดกันเองภายในประเทศ หรือติดกันระหว่างประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกันและเดินทางผ่านทางบก โดยเฉพาะช่องทางธรรมชาติที่ไม่ถูกต้องตามกฏหมายแล้ว การตรวจคัดกรอง การกักตัว ก็จะทำได้ยากลำบากกว่าการเดินทางผ่านทางเครื่องบินหรือสนามบิน
ในช่วงที่ผ่านมา ยังไม่มีการติดเชื้อในประเทศเพื่อนบ้านที่มีพรมแดนติดกับไทยเลย ทำให้โอกาสที่จะผ่านช่องทางธรรมชาติจึงยังไม่มีประเทศที่มีรายงานเคสและอยู่ใกล้ไทยช่วงที่ผ่านมาได้แก่ สิงคโปร์ ฮ่องกง และอินเดีย ก็ล้วนแต่ไม่มีพรมแดนติดกับประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ล่าสุดได้มีรายงานข่าวด่วนว่า มาเลเซียได้พบเคสแรกของโอไมครอนแล้ว ซึ่งจะมีความสำคัญกับประเทศไทยมาก เพราะไทยกับมาเลเซียมีพรมแดนติดกัน และสามารถเดินผ่านทางช่องทางธรรมชาติได้ ดังที่ปรากฏการแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุ์เบต้าและสายพันธุ์เดลต้า ใน 4 จังหวัดภาคใต้ในช่วงที่ผ่านมา
โดยเคสแรกของมาเลเซียนั้น เป็นผู้หญิงวัย 19 ปี เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยที่รัฐเปรัก เดินทางกลับมาจากแอฟริกาใต้ ผ่านสิงคโปร์ โดยผลตรวจเป็นลบ และมีประวัติการได้รับวัคซีนครบสองเข็ม
เดินทางต่อมายังมาเลเซีย ซึ่งพบผลเป็นบวก โดยไม่ได้ตรวจว่าเป็นไวรัสสายพันธุ์อะไร เพราะเดินทางเข้ามายังมาเลเซีย ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 2564 ซึ่งเป็นช่วงก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศกลุ่มไวรัสน่าเป็นห่วงในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2564 จึงไม่ได้มีการถอดรหัสพันธุกรรมหาชนิดของไวรัส
เมื่อทางการมาเลเซียทราบการประกาศขององค์การอนามัยโลกแล้ว จึงได้นำตัวอย่างของผู้ที่ตรวจการติดเชื้อเป็นบวกที่สนามบินของมาเลเซียในช่วงวันที่ 11 ถึง 28 พฤศจิกายนจำนวนทั้งสิ้น 74 รายมาตรวจหารหัสพันธุกรรม หรือการตรวจจีโนม (Genome) จึงพบโอไมครอนเคสแรก ซึ่งเป็นนักศึกษาหญิงวัย 19 ปีดังกล่าว

ระวังโอไมครอนหลุดเข้าผ่านช่องทางธรรมชาติ
ซึ่งก็โชคดี เพราะได้ทำการกักตัวไว้เป็นเวลา 10 วัน ส่วนผู้ที่นั่งรถคันเดียวกัน 5 คน ผลตรวจออกมาเป็นลบ มาเลเซียได้ประกาศห้ามพลเมืองของ 8 ประเทศในแอฟริกาเดินทางเข้าประเทศตนเอง เช่นเดียวกับประเทศไทย
ส่วนกรณีที่เกิดขึ้นนั้น เกิดขึ้นก่อนที่มาเลเซียจะประกาศห้ามการเดินทาง และเกิดขึ้นก่อนที่องค์การอนามัยโลกจะประกาศไวรัสโอไมครอน
ไวรัสใหม่นี้ได้ขยับใกล้ประเทศไทยเข้ามาทุกที มาถึงมาเลเซียแล้ว
ส่วนทางด้านตะวันตก เข้ามาถึงอินเดีย และทางด้านตะวันออกและทิศเหนือเข้ามาถึงฮ่องกง
ในไม่ช้าคาดว่า ประเทศเพื่อนบ้านทั้งเมียนมาร์ ลาวและกัมพูชา ก็จะมีโอกาสตรวจพบเคสของไวรัสโอไมครอนเช่นกัน
ประเทศไทยซึ่งได้ใช้มาตรการเข้มงวดกวดขันในเรื่องการตรวจตราช่องทางธรรมชาติอยู่แล้วคงจะต้องเข้มงวดมากยิ่งขึ้น
ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ทุกท่านที่ปฎิบัติหน้าที่ด้วยความวิริยะอุตสาหะในช่องทางธรรมชาติต่างๆ และผู้ที่ทำหน้าที่ตรวจตราผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ทั้งทางเรือและทางอากาศ
หวังว่าไวรัสโอมมิครอน จะไม่ก่ออาการของโรคที่รุนแรงมากนัก เพราะการสกัดกั้นไม่ให้ไวรัสระบาดไปประเทศต่างๆในโลกนั้น ดูท่าจะเป็นไปได้ยาก
โดยใช้ประสบการณ์จากไวรัสเดลต้า ซึ่งสุดท้ายในเวลาไม่กี่เดือน ก็ระบาดไปทั่วโลกเกือบครบ 200 ประเทศ
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (covid-19) ในประเทศไทย วันที่ 4 ธันวาคม 2564 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือศบค. พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 เพิ่มขึ้นรวม  5,896  ราย ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64)  2,107,674 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 37  ราย หายป่วย 5,666 ราย กำลังรักษา 72,954 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,015,240 ราย