รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า
เป็นวันแรกที่ผู้ป่วยใหม่รายวันลงต่ำกว่า 3,000 คน ต้องรอดูอีกสองสามวันข้างหน้าว่าจะไม่กระเดิดขึ้นใหม่ ส่วนยอดผู้ป่วยอาการรุนแรงก็ลงใกล้จะต่ำกว่าหนึ่งพันแล้ว รักษาวินัยแบบนี้กันไปเรื่อยๆ จะได้กลับมาลืมตาอ้าปากแบบสบายใจกันได้ถ้วนทั่ว
มีผู้ที่สอบถามเข้ามาว่ายาฟาวิพิราเวียร์ยังใช้ได้ดีกับผู้ป่วยโควิด-19 อยู่หรือ เพราะมีผู้ที่อาจไม่รู้จริงให้ข้อมูลเพื่อด้อยค่ายาตัวนี้ และอาจหวังลดความน่าเชื่อถือของฝ่ายนโยบายไปด้วยในตัว ภาคการแพทย์เราลงความเห็นร่วมกันว่าถึงปัจจุบันยาฟาวิพิราเวียร์อาจจะไม่มีข้อมูลเชิงประจักษ์มากนัก
แต่ประสบการณ์การใช้งานในบ้านเราที่ค่อนข้างได้ผล ยานี้จึงยังมีที่ใช้ในผู้ป่วยโควิด-19 (Covid-19) ที่มีอาการไม่รุนแรง ถ้าอาการหนักเราจะใช้ยาเรมเดซสิเวียร์แทน ซึ่งยาทั้งสองตัวนี้ประเทศไทยยังมีใช้พอเพียงไปอีกอย่างน้อยสองเดือน เช่นเดียวกับความพร้อมด้านเตียงไอซียู เครื่องช่วยหายใจ และวัสดุอุปกรณ์การแพทย์ที่จำเป็น
ส่วนยาใหม่คือ Antibody cocktail, โมลนูพิราเวียร์ และ Paxlovid กำลังสั่งเข้ามาแล้ว น่าจะได้มีใช้กันแพร่หลายในต้นปีหน้า โดยจะเก็บไว้ใช้ในกลุ่มเปราะบางที่เพิ่งติดเชื้อไม่นาน สำหรับป้องกันไม่ให้โรคลุกลาม ส่วนวัคซีนโควิดนั้นน่าจะมีเพียงพอไปถึงเข็มสามและเข็มสี่ในรายที่จำเป็น ลองมาทำความรู้จักยาที่เราใช้รักษาโรคโควิด-19 กันหน่อยน่าจะดี
กลุ่มแรก เป็นสารสังเคราะห์ที่ออกฤทธิ์ยับยั้ง spike protein ได้แก่กลุ่ม antibody cocktail ซึ่งได้รับการพิสูจน์ทราบผลและรับรองให้ใช้แล้วหลายยี่ห้อ สารกลุ่มนี้จะได้ผลดีถ้ายิ่งให้เร็วหลังได้รับเชื้อ และจะยิ่งดีถ้าคนนั้นไม่เคยมีภูมิต้านทานโควิดมาก่อน (seronegative) ทั้งภูมิจากการติดเชื้อตามธรรมชาติหรือภูมิจากการฉีดวัคซีน
กลุ่มที่สอง เป็นยาต้านไวรัสที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่กันอยู่เดิม ออกฤทธิ์ที่ RNA-dependent RNA-polymerase (RdRp) ซึ่งเป็นโปรตีนที่เจ้าโควิดใช้ในการแบ่งตัวขยายพันธุ์ ยาจะไปรบกวนการทำงานของโปรตีนนี้ในหลายแบบ ข้อมูลเดิมฟาวิพิราเวียร์และเรมเดซสิเวียร์ทำหน้าที่คล้ายกันในการหยุดยั้งการสร้างสายพันธุกรรม (chain terminator) ส่วนโมลนูพิราเวียร์ทำหน้าที่หลอกล่อให้การสร้างสายพันธุกรรมผิดเพี้ยน (mutagenesis) แต่ข้อมูลล่าสุดดูเหมือนฟาวิพิราเวียร์จะออกฤทธิ์คล้ายโมลนูพิราเวียร์มากกว่า
ยากลุ่มที่สาม ออกฤทธิ์ที่ protease ซึ่งเป็นเอนไซม์สำหรับตัดเส้นโปรตีนที่ใช้ในกระบวนการสร้างสายพันธุกรรมระหว่างการแบ่งตัวของไวรัส โดยแบ่งย่อยเป็นสองพวกคือ ออกฤทธิ์ที่ papain-like protease (PLpro) หรือ ออกฤทธิ์ที่ main protease สำหรับ Paxlovid นั้นเป็นพวกหลัง
สำหรับฟาวิพิราเวียร์นั้นเป็นยาที่ใช้รักษาไข้หวัดใหญ่กันแพร่หลายในญี่ปุ่น และนิยมใช้ในการรักษาโรควิด-19 ในประเทศแถบเอเชียรวมถึงประเทศไทย จึงไม่ได้มีการรวบรวมข้อมูลประสิทธิผลและประสิทธิภาพที่เป็นระเบียบแบบแผนเหมือนยาที่ผลิตในประเทศทางตะวันตก แต่ก็มีข้อมูลทั้งในห้องทดลองและการใช้งานกับผู้ป่วยจริงว่าได้ผล รวมถึงในอนาคตอาจใช้ร่วมกับยาอื่นเช่นโมลนูพิราเวียร์ได้