เปิดเหตุผลไทยระงับ "Test & Go" หมอเฉลิมชัยชี้เหมาะสมในการรับมือ "โอมิครอน"

23 ธ.ค. 2564 | 01:53 น.
อัปเดตล่าสุด :23 ธ.ค. 2564 | 08:54 น.

เปิดเหตุผลไทยระงับ Test & Go หมอเฉลิมชัยชี้เหมาะสมในการรับมือโอมิครอน (Omicron) หลังพบผู้ติดเชื้อจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น ระบุต้องรอประเมินผลว่าจะต้องปรับมาตรการเป็นถาวรและเข้มข้นหรือไม่

รายงานข่าวระบุว่า น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ทำไมต้องระงับชั่วคราว กลุ่มผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ Test and Go : เหตุจากพบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าตัว
หลังจากที่ประเทศไทยพบการระบาดของโควิดระลอกที่ 3 เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 และขึ้นสูงสุดวันที่ 13-18 สิงหาคม 2564
หลังจากนั้น ก็เข้าสู่ช่วงขาลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีไวรัสเดลตาเป็นสายพันธุ์หลัก
ด้วยความจำเป็นในมิติทางด้านเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องยาวนานเกือบสองปีเต็ม
ทำให้ต้องออกมาตรการผ่อนคลายหลายประการ หนึ่งในนั้นคือการเปิดให้มีผู้เดินทางจากต่างประเทศเข้าสู่ประเทศไทยได้ ที่เรียกว่าเปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายน 2564
 

หลังจากเปิดประเทศมาได้ 1 เดือน 20 วัน ภายใต้สถานการณ์ขาลงต่อเนื่อง จากไวรัสสายพันธุ์เดลตา
ทำให้มิติทางเศรษฐกิจและสังคมพอที่จะได้รับการเยียวยาบ้างบางส่วน
โดยการเปิดประเทศเพื่อให้ผู้เดินทางเข้ามาได้นั้น กระทำใน 3 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่
1.เข้มข้นสูงสุดคือ การกักตัวปกติ (Quarantine) รับผู้เดินทางจากทุกประเทศทั่วโลก จะฉีดวัคซีนครบหรือไม่ก็ได้ แต่ต้องเข้าสู่ระบบการกักตัว 10-14 วันตามระบบปกติ
2.เข้มข้นปานกลาง (Sandbox) คือระบบที่มีความเข้มงวดลดลง โดยกำหนดให้ผู้ที่จะเดินทางเข้ามา จะต้องฉีดวัคซีนครบสองเข็ม มีการตรวจพีซีอาร์ประเทศต้นทางไม่เกิน 72 ชั่วโมงเป็นลบ และมาถึงประเทศไทยจะต้องตรวจพีซีอาร์เป็นลบอีกครั้งหนึ่ง

ระงับ Test & Go รับมือโอมิครอน
หลังจากนั้นให้สามารถเดินทางในเขตพื้นที่อำเภอหรือจังหวัดที่กำหนดไว้ได้เป็นเวลา 7 วัน ไม่ต้องกักตัว
เมื่อครบ 7 วันแล้ว ตรวจอีกครั้งหนึ่งยังเป็นลบ จะสามารถออกนอกพื้นที่ ไปยังจังหวัดต่างๆภายในประเทศไทยได้

3) เข้มข้นลดลงมา (Test & Go) เป็นอันที่นักท่องเที่ยวสนใจมากที่สุด เพราะจะมีการกักตัวเพียง 1 วัน
โดยมีมาตรการสำคัญคือ จะต้องเดินทางมาจาก 63 ประเทศกลุ่มเสี่ยงต่ำ
มีการตรวจพีซีอาร์ต้นทาง ไม่เกิน 72 ชั่วโมง ผลเป็นลบ
ฉีดวัคซีนครบสองเข็ม ต้องเป็นวัคซีนที่ไทยหรือองค์การอนามัยโลกรับรอง
เมื่อมาถึงแล้ว กักตัว 1 วัน เพื่อรอผลตรวจพีซีอาร์ ถ้าออกมาเป็นลบ ก็สามารถออกไปได้เลย
ในช่วงที่ผ่านมาตลอดเดือนพฤศจิกายน ซึ่งยังไม่มีไวรัสสายพันธุ์ใหม่โอมิครอน (Omicron) พบว่ามาตรการของ Test and Go ก็ได้ผลดี
แต่เมื่อมีไวรัส Omicron เกิดขึ้น โดยองค์การอนามัยโลกประกาศให้เป็นไวรัสกลุ่มน่าเป็นห่วงเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564
และมีการแพร่ระบาดไปเกือบ 100 ประเทศในทุกทวีป โดยหลายประเทศมีอัตราก้าวกระโดด เช่น อังกฤษเพิ่มขึ้นเกือบ 100,000 รายต่อวัน และเป็น Omicron นับ 10,000 รายต่อวันนั้น
ทำให้เราต้องมาทบทวน ดูระบบการคัดกรองของผู้เดินทางจากต่างประเทศว่าเป็นอย่างไรบ้าง
จะพบรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
เมื่อเปรียบเทียบระหว่างเดือนพฤศจิกายน (1-30 พย.64) กับเดือนธันวาคม (1-20 ธค.64)
1) จำนวนผู้เดินทางมาจากต่างประเทศเพิ่มขึ้น
จาก 133,061 คน
เป็น 171,780 คน
รวมทั้งสิ้น 304,841 คน
2) จำนวนผู้ติดเชื้อที่คัดกรอง
พบเพิ่มขึ้น
จาก 171 คน
เป็น 377 คน
จาก 0.13% 
เป็น 0.22% 
หรือเพิ่มขึ้น 1.7 เท่า
3) ระบบเทสต์แอนด์โก (Test and Go) 
พบผู้ติดเชื้อ 83 ราย
เพิ่มขึ้นเป็น 227 ราย
หรือเพิ่มจาก 0.08% เป็น 0.15% 
คือเพิ่มขึ้น 1.9 เท่า หรือเกือบสองเท่า

ระงับ Test & Go เหมาะสมในการรับมือโอมิครอน
4) ในขณะที่ระบบ Sandbox 
เพิ่มขึ้น 1.1 เท่า
5) ในระบบกักตัวปกติ
เพิ่มขึ้น 3 เท่า
จะเห็นได้ว่าอัตราผู้ติดเชื้อที่คัดกรองพบในผู้เดินทางจากต่างประเทศ เพิ่มขึ้น 1.7 เท่า
โดยแยกเป็นระบบกักตัวปกติ
เพิ่มมากสุด 3 เท่า แต่กักตัวไว้ทุกรายเป็นเวลา 10-14 วัน จึงปลอดภัย
ระบบ Sandbox เพิ่มน้อยสุด 1.1 เท่าและถูกจำกัดอยู่ในพื้นที่เฉพาะ จึงยังไม่เสี่ยงมากนัก
ส่วน Test and Go เพิ่มขึ้น 1.9 เท่า และไม่มีการกักตัว ปล่อยให้เดินทางออกไปได้เลย ซึ่งถ้าเป็นสายพันธุ์เดลตา ก็จะไม่มีปัญหา
แต่ถ้าเป็นสายพันธุ์ Omicron ซึ่งจะมีระยะฟักตัวแบบไม่แสดงอาการ และผลตรวจพีซีอาร์ช่วงแรกเป็นลบ
จึงทำให้เป็นจุดอ่อน ที่อาจจะมีการหลุดรอดเข้ามา กลายเป็นการระบาดภายในประเทศได้
การระงับชั่วคราว ไม่รับผู้ลงทะเบียนใหม่สำหรับระบบ Test and Go จึงเป็นมาตรการที่ถูกต้องเหมาะสมในช่วงนี้
และต้องรอการประเมินผลต่อไปว่า จะต้องปรับมาตรการดังกล่าวเป็นการถาวรหรือเข้มข้นขึ้นอย่างไร เพื่อรองรับไวรัส Omicron
เทศกาลปีใหม่นี้ จึงอยู่ในช่วงที่ต้องติดตามต่อไปว่า จะเฉลิมฉลองตามที่กำหนดกันไว้ได้มากน้อยเพียงใด
สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) วันที่ 23 ธันวาคม 2564 ในประเทศไทยนั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจาก ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค.พบว่า มียอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น  2,940 ราย  
ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,173,138 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 30 ราย หายป่วยเพิ่ม 2,798 ราย กำลังรักษา 38,314 ราย หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 เม.ย.64) 2,114,760 ราย