รายงานข่าวระบุว่า รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
30 ธันวาคม 2564 ทะลุ 284 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,522,377 คน ตายเพิ่ม 6,681 คน รวมแล้วติดไปรวม 284,799,551 คน เสียชีวิตรวม 5,437,930 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุด ยังเป็นเช่นเดิมคือ อเมริกา ฝรั่งเศส สหราชอาณาจักร สเปน และอิตาลี
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 92.28% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 94.46%
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 56.04% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 56.68%
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 7 ใน 10 อันดับแรก และ 14 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สำหรับสถานการณ์ไทย
ระบบรายงานจำนวน ATK ของ DDC ปิดปรับปรุง จึงไม่มีรายงานให้สาธารณะได้ทราบว่าจำนวนมีมากน้อยเพียงใด
ลำพังตัวเลขรายงานติดเชื้อในแต่ละวัน เมื่อวาน 2,575 คน ไม่สามารถสะท้อนสถานการณ์ได้อย่างละเอียดพอ
ดังจะสังเกตได้จากหลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว จะมีการรายละเอียดชัดเจนทั้งจำนวนการตรวจจริงของแต่ละวิธี จำนวนที่ตรวจพบว่าติดเชื้อในแต่ละวิธี ทั้ง RT-PCR และ ATK รวมถึงอัตราการตรวจพบของแต่ละวิธีในแต่ละวัน ซึ่งการให้ข้อมูลลักษณะนี้จะช่วยให้คนในสังคมรู้เท่าทันสถานการณ์ และตระหนักถึงความสำคัญในการประพฤติปฏิบัติ ดำรงชีวิตประจำวันได้อย่างถูกต้อง
ยามวิกฤติยิ่งจำเป็นต้องให้คนในสังคมทราบรายละเอียดให้มากและทันต่อสถานการณ์
อัพเดต Omicron (โอมิครอน)
ข้อมูลจาก BNO พบว่าตอนนี้มีการระบาดไปแล้วถึง 121 ประเทศทั่วโลก ถือเป็นการขยายวงอย่างรวดเร็วเพียงแค่ 2 เดือนหลังจากที่พบสายพันธุ์ Omicron
แล้วการระบาดของ Omicron ทำไมจึงเร็วเช่นนี้?
จากการวิจัยต่างๆ ทั่วโลกที่ผ่านมา พิสูจน์ให้เราทราบแล้วว่า Omicron แพร่ไวกว่าเดิม 4.1 เท่า, ติดเชื้อซ้ำในคนที่เคยติดเชื้อมาก่อนได้มากกว่าสายพันธุ์เดิม 3 เท่า, แบ่งตัวในหลอดลมมากกว่าสายพันธุ์เดิม 70 เท่า แต่แบ่งตัวในเซลล์ปอดน้อยกว่าเดิม 10 เท่า, ดื้อต่อภูมิคุ้มกัน 20-40 เท่า และดื้อต่อการรักษาด้วยโมโนโคลนัล แอนติบอดี้หลายชนิด
Garrett N และคณะ จากแอฟริกาใต้ เผยแพร่ผลการวิจัยใน medRxiv วันที่ 27 ธันวาคม 2564 ที่ผ่านมา ช่วยให้เข้าใจอีกสาเหตุสำคัญที่น่าจะทำให้ Omicron แพร่กระจายได้เร็วกว่าเดิม
โดยงานวิจัยนี้ชี้ให้เห็นว่า การระบาดของ Omicron ในแอฟริกาใต้มีแนวโน้มที่ทำให้คนติดเชื้อแบบไม่มีอาการ (Asymptomatic carriage) มากกว่าเดลตาหลายเท่า โดยการติดเชื้อแบบไม่มีอาการนั้นตรวจพบว่ามีปริมาณไวรัสสูงในโพรงจมูกและน่าจะเป็นเหตุผลหนึ่งที่อธิบายว่า Omicron แพร่อย่างรวดเร็วกว่าเดิม เพราะมีกลุ่มคนติดเชื้อแบบไม่มีอาการมากขึ้น และแพร่ให้คนอื่นๆ ระหว่างการดำรงชีวิตประจำวันโดยไม่รู้ตัวทั้งผู้แพร่เชื้อและผู้รับเชื้อ
ส่วนเรื่องความรุนแรงของโรคที่ดูจะลดลงจากการดูสถิติหลายประเทศทั่วโลกในแง่จำนวนผู้ติดเชื้อที่ป่วยรุนแรงและจำนวนการเสียชีวิตนั้น มีการอธิบายด้วยเหตุผลคือ Omicron ระบาดในช่วงที่ประชากรจำนวนไม่น้อยที่มีภูมิคุ้มกันระดับหนึ่งแล้ว ไม่ว่าจะมาจากวัคซีน หรือจากการติดเชื้อมาก่อน ทำให้พอติดเชื้อแล้วจะมีโอกาสป่วยรุนแรงลดลงกว่าเดิม นอกจากนี้ในแง่ของตัวไวรัสเอง ก็ได้รับการศึกษาแล้วชี้ให้เห็นว่าน่าจะมีความรุนแรงลดลงด้วย (intrinsic severity) บางรายงานคาดว่าราว 2-12% และมีงานวิจัยอีกอย่างน้อย 5 ชิ้นใน 4 ประเทศ ที่ศึกษาในหลอดทดลอง และในสัตว์ (หนูแฮมสเตอร์) ที่พบว่า Omicron ติดเชื้อในเซลล์ปอดได้น้อยกว่าสายพันธุ์เดิม
ทั้งนี้ในเรื่องความรุนแรงของโรค จำเป็นต้องติดตามศึกษาในมนุษย์อย่างละเอียดเพียงพอเสียก่อน จึงจะสามารถสรุปได้ คงต้องรอติดตามความรู้ที่จะออกมากันต่อไป
ขอให้ใช้ชีวิตอย่างมีสติ
ป้องกันตัวเองและครอบครัว ใส่หน้ากากเสมอ อยู่ห่างจากคนอื่นเกินหนึ่งเมตร เลี่ยงตะลอนท่องเที่ยว เลี่ยงการปาร์ตี้สังสรรค์กับคนนอกครอบครัว หากมีอาการไม่สบายคล้ายหวัด ให้นึกถึงโควิดด้วยและรีบไปตรวจ