เอกชนไม่เอาล็อกดาวน์ห่วง ศก. ชะงักแนะรัฐเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 สู้โอมิครอน

11 ม.ค. 2565 | 06:26 น.
อัปเดตล่าสุด :13 ม.ค. 2565 | 16:16 น.

เอกชนไม่เอาล็อกดาวน์ห่วงเศรษฐกิจชะงักแนะรัฐเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 สู้โอมิครอน พร้อมยกระดับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุข ควบคู่ไปกับมาตรการด้านเศรษฐกิจ

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า สิ่งที่ภาคเอกชนต้องการนำเสนอต่อภาครัฐฯก็คือ 

 

 

  • ยกระดับการดำเนินมาตรการด้านสาธารณสุข ควบคู่ไปกับมาตรการด้านเศรษฐกิจ โดยไม่นำมาตรการล็อกดาวน์กลับมาใช้ เพื่อให้เศรษฐกิจสามารถเดินหน้าต่อไปได้

 

 

  • เร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 (Booster) ให้กับประชาชน เพื่อลดโอกาศการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) และลดความรุนแรงเมื่อติดเชื้อ

 

 

  • การเตรียมความพร้อมด้านระบบสาธารณสุข ศูนย์พักคอย สถานที่กักตัว และโรงพยาบาล ตลอดจนสำรองยาและเวชภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์รวมทั้งเตรียมความพร้อมของบุคลากร เพื่อรองรับจำนวนผู้ป่วยโควิด-19 (Covid-19) ที่อาจมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน 
  • เร่งประชาสัมพันธ์ สร้างความรู้ความเข้าใจและช่วยส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทย ในการใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษี ภายใต้กรอบความร่วมมือการเปิดเสรีการค้าตามข้อตกลง RCEP ที่มีผลตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2565 ที่ผ่านมา

 

 

ทั้งนี้ ในส่วนของผลการสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือนธันวาคม 2564 อยู่ที่ระดับ 86.8 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากระดับ 85.4 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 โดยค่าดัชนีฯ ปรับตัวเพิ่มเป็นเดือนที่ 4 ติดต่อกัน สะท้อนความเชื่อมั่นผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรมดีขึ้นต่อเนื่อง 

 

 

โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศภายหลังจากภาครัฐผ่อนคลายมาตรการควบคุมโควิด-19 เพิ่มเติม ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาดำเนินการได้มากขึ้นทั้งภาคการผลิต การค้า และการเดินทางในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ ช่วยส่งเสริมการใช้จ่ายของประชาชนโดยเฉพาะในช่วงเทศกาลปีใหม่ 

 

 

ดัชนีเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมเดือนธันวาคม

 

 

ด้านการส่งออกมีคำสั่งซื้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องตามเศรษฐกิจโลกที่ทยอยฟื้นตัว ขณะที่การอ่อนค่าของเงินบาท ส่งผลดีต่อผู้ส่งออกและช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันด้านราคาของสินค้าไทย แต่อย่างไรก็ตามยังมีปัจจัยลบจากสถานการณ์ระบาดของโควิด-19 ที่ยังมีความไม่แน่นอนโดยเฉพาะการพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศเพิ่มขึ้น
 

ขณะที่ผู้ประกอบการยังเผชิญกับแรงกดดันจากต้นทุนประกอบการที่ปรับตัวสูงขึ้นทั้งจากราคาพลังงานและราคาวัตถุดิบ โดยที่ปัญหาขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์และตู้คอนเทนเนอร์ยังไม่คลี่คลาย

 

 

นายสุพันธุ์ กล่าวต่อไปอีกว่า จากการสำรวจผู้ประกอบการ 1,325 ราย ครอบคลุม 45 กลุ่มอุตสาหกรรมทั่วประเทศในเดือนธันวาคม 2564 พบว่า ปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลเพิ่มขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมัน 67.3% และสถานการณ์ระบาดของโควิด 62.2%

 

 

ส่วนปัจจัยที่ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีความกังวลลดลง ได้แก่ เศรษฐกิจในประเทศ 55.1% ,สภาวะเศรษฐกิจโลก 44% ,สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศ 43.5% ,อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ 40.8% ,และอัตราแลกเปลี่ยน (มุมมองผู้ส่งออก) โดยอัตราแลกเปลี่ยนอ้างอิงค่าเงินบาทเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ 38.5% 

 

 

สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 95.2 จากระดับ 97.3 ในเดือนพฤศจิกายน 2564 เนื่องจากไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน เริ่มระบาดในประเทศไทยและในหลายประเทศทั่วโลก โดยผู้ประกอบการมีความกังวลว่าหากมีการแพร่ระบาดรุนแรงในประเทศภาครัฐอาจพิจารณาใช้มาตรการล็อกดาวน์อีกครั้ง ซึ่งอาจส่งกระทบต่อการประกอบกิจการและฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2565