วันที่ 15 ม.ค. 65 นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เตือนประชาชนอย่าประมาท จากการแพร่ระบาดของโรคไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน แม้เชื้อจะไม่รุนแรงในเด็กและคนสูงอายุ แต่โอมิครอนยังทำให้มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วทั่วโลก
ยืนยัน รัฐบาลเตรียมความพร้อมรองรับผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นได้อย่างเพียงพอ ขอเพียงประชาชนร่วมมือปฏิบัติตามมาตรการ Universal Prevention งดเข้าสถานที่เสี่ยง ชะลอเดินทาง ตามที่กระทรวงสาธารณสุขประกาศเตือนภัยระดับ 4 หากสถานการณ์ปรับตัวดีขึ้น การแพร่ระบาดลดระดับลง อาจมีการพิจารณาลดระดับ ในระยะถัดไป
สถานการณ์โควิด-19 ประจำวัน ซึ่งในวันนี้ พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 รายใหม่ 7,793 ราย จำแนกเป็น ผู้ติดเชื้อในประเทศ 7,523 ราย และผู้ป่วยมาจากต่างประเทศ 270 ราย ผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 18 ราย ผู้ที่กำลังรักษาตัว 77,368 ราย และมียอดผู้ที่หายป่วยกลับบ้านแล้ว 5,202 ราย ทำให้มียอดผู้ป่วยยืนยันสะสมตั้งแต่ 1 ม.ค. 65 จำนวน 92,973 ราย จำนวนผู้ที่หายป่วยสะสมจำนวน 48,630 ราย ขณะที่รายงานภาพรวมการฉีดวัคซีนโควิด-19 สรุปจำนวนผู้ที่ได้รับได้รับวัคซีนสะสม ตั้งแต่ 28 ก.พ. 64 - 13 ม.ค. 2565 รวม 109,089,753 โดส ใน 77 จังหวัด แบ่งเป็นผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 สะสม 51,695,957 ราย ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 2 สะสม 47,360,883 ราย ผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 3 สะสม 9,479,827 ราย และผู้ได้รับวัคซีนเข็มที่ 4 สะสม 553,086 ราย
นายธนกร กล่าวว่า สรุปสถานะการจัดตั้งโรงพยาบาลสนาม (ข้อมูล ณ วันที่ 12 ม.ค. 65) ตามที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เตรียมความพร้อมสถานพยาบาลเพื่อรองรับการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ตามระดับอาการ ดังนี้ 1. สถานะโรงพยาบาลสนามของกระทรวงกลาโหม (กห.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และกรุงเทพมหานคร (กทม.) รวมสถานะการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามจาก 3 หน่วยงาน ปัจจุบันมีทั้งหมด จำนวน 118 แห่ง พร้อมรับ จำนวน 24,646 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 2,611 เตียง และสามารถรองรับได้เพิ่มเติมอีก จำนวน 22,035 เตียง และ 2. สถานะศูนย์แยกกักชุมชน (Community Isolation) ของ อว. ปัจจุบันมีทั้งหมด จำนวน 11 แห่ง พร้อมรับ จำนวน 2,951 เตียง รับผู้ป่วยแล้ว จำนวน 201 เตียง และสามารถรองรับได้เพิ่มเติม จำนวน 2,705 เตียง
ทั้งนี้ 14 วันที่ผ่านมา แผนการชะลอการระบาดถือว่าสามารถควบคุมได้ดี ขอความร่วมมือประชาชนมารับวัคซีนให้ครบตามที่สาธารณสุขแนะนำ เน้นมาตรการ ATK First ขณะเดียวกันการดำเนินการของมาตรการทางการแพทย์ ได้มีระบบสายด่วนประสานผู้ติดเชื้อ ซึ่งสามารถติดต่อได้ที่สายด่วน 1330 หรือสายด่วนในระดับจังหวัด โดยในขณะนี้ ยังเน้นการดูแลที่บ้าน Home Isolation เป็นหลัก เนื่องจากจำนวนของผู้ป่วยที่มีอาการน้อยมากมีจำนวนมากที่สุด ประมาณร้อยละ 90 โดยการดูแลรักษาผู้ป่วยในกลุ่มนี้จะมีระบบการติดตาม และดูแลโดยบุคลากรทางการแพทย์จากโรงพยาบาล หากดูแลที่บ้านไม่ได้ สามารถดูแลผ่านศูนย์ระดับชุมชน Community Isolation ซึ่งหากระหว่างการติดตามอาการพบมีผู้ป่วยอาการรุนแรงขึ้นก็จะดำเนินการส่งไปรักษาตัวที่โรงพยาบาลทันที
“นายกรัฐมนตรี พร้อมรับฟังข้อเสนอที่เป็นประโยชน์ เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขมาตรการรับมือต่าง ๆ เพื่อให้ประชาชนใช้ชีวิตอย่างเป็นปกติได้มากที่สุด ยืนยันว่า ไม่เคยลดหย่อนการทำงานแม้สถานการณ์จะดีขึ้น ในส่วนของมาตรการต่าง ๆ จะพิจารณาผ่อนคลายให้เร็วที่สุดภายหลังสถานการณ์ดีขึ้น โดยจะเน้นความปลอดภัยประชาชนเป็นหลัก ย้ำ ขอความร่วมมือประชาชนทุกภาคส่วนช่วยกันป้องกันตัวเองตามมาตรการ VUCA ประกอบด้วย V- Vaccine, U-Universal Prevention, C- Covid-19 free setting และ A- ATK เพื่อป้องกันตัวเองและเป็นการช่วยกันลดการแพร่ระบาด” นายธนกร กล่าว