นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า จากผลการทดสอบภูมิคุ้มกันวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์เดลตาและโอมิครอนจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์หลังฉีดวัคซีน
โดยใช้ไวรัสจริงแยกได้จากผู้ป่วย และปฏิบัติการภายในห้องปฏิบัติการชีวนิรภัยระดับ 3 ด้วยวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ประกอบด้วย
การเจาะเลือดของผู้รับวัคซีนโควิด 19 มาแล้ว 2 สัปดาห์ ซึ่งเป็นช่วงที่ภูมิคุ้มกันขึ้นมากพอ นำมาปั่นแยกเอาซีรั่มมาทดสอบกับไวรัสโควิดที่เพาะเลี้ยงในจานทดลองโดยจะเจือจางซีรั่มครั้งละเท่าตัวจนกว่าจะถึงระดับที่ทำลายเชื้อไวรัสลงได้ครึ่งหนึ่ง หรือ NT50 ซึ่งเป็นระดับสุดท้ายที่น่าจะป้องกันการติดเชื้อได้
โดยได้ทดสอบภูมิคุ้มกันจากวัคซีนที่มีการใช้ในประเทศไทย 8 สูตร ได้แก่ ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ,แอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็ม ,ไฟเซอร์ 2 เข็ม
,ซิโนแวค-ไฟเซอร์ ,แอสตร้าเซนเนก้า-ไฟเซอร์ ,ซิโนแวค 2 เข็มตามด้วยแอสตร้าเซนเนก้า ,ซิโนแวค 2 เข็ม ตามด้วยไฟเซอร์ และแอสตร้าเซนเนก้า 2 เข็มตามด้วยไฟเซอร์
ทั้งนี้ ผลการทดสอบพบว่า วัคซีนทุกสูตรจัดการกับเชื้อสายพันธุ์เดลตาได้ค่อนข้างดี แต่ลดลงเมื่อเจอกับสายพันธุ์โอมิครอน สอดคล้องกับข้อสันนิษฐานว่า โอมิครอนน่าจะหลบวัคซีนได้ดีกว่าเดลตา
โดยเฉพาะการฉีดวัคซีน 2 เข็มระดับภูมิคุ้มกันต่อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอนไม่สูงมากนัก แต่ยังสามารถป้องกันอาการรุนแรงและเสียชีวิตได้
ส่วนการฉีดเข็มกระตุ้นหรือเข็ม 3 ค่าภูมิคุ้มกันจะสูงขึ้นอย่างมาก ช่วยลดการติดเชื้อ แพร่เชื้อ และลดเจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้มากขึ้น โดยต้องศึกษาต่อไปว่าระดับภูมิคุ้มกันจะสูงต่อเนื่องได้นานเพียงใด
"นอกจากนี้ กำลังอยู่ระหว่างการทดสอบวัคซีนสูตรไขว้ซิโนแวค-แอสตร้าเซนเนก้า ที่กระตุ้นเข็ม 3 ด้วยแอสตร้าเซนเนก้าหรือไฟเซอร์อีกสูตรหนึ่ง รวมถึงกำลังเร่งศึกษากรณีการติดเชื้อโอมิครอนแล้วภูมิคุ้มกันหลังติดเชื้อจะช่วยจัดการสายพันธุ์เดลตาได้ด้วยหรือไม่"