นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของ โควิด-19 ทั้งสายพันธุ์เดลตา และสายพันธ์โอมิครอน
ทำให้ต้องมีการแยกกักตัวระหว่างการรอเตียงเข้ากักตัวในสถานที่ที่รัฐจัดให้ เพื่อควบคุมป้องกันไม่ให้เชื้อโรคแพร่กระจาย จึงมีความจำเป็นที่จะต้องมีการแยกกักตัวที่บ้าน หรือที่พักอาศัยประเภทคอนโดนิเนียม (Home Isolation)
ทั้งนี้ มีคำแนะนำสำหรับครอบครัวเพื่อเตรียมความพร้อมกรณีมีผู้ต้องแยกกักตัวอยู่ที่บ้าน ดังนี้
นายแพทย์สุวรรณชัย กล่าวอีกว่า คำแนะนำการปฏิบัติตัวของผู้ที่พักอาศัยและผู้ดูแลที่อยู่ร่วมกับผู้ติดเชื้อในบ้าน คอนโดมิเนียม หรือแฟลต ต้องสวมหน้ากากตลอดเวลา ล้าง มือบ่อย ๆ ด้วยสบู่และน้ำ นานอย่างน้อย 20 วินาที แยกของใช้ส่วนตัว แยกกันกินอาหารและไม่ดื่มน้ำร่วมกัน เก็บล้างภาชนะด้วยน้ำยาล้างจาน นำไปผึ่งแดดให้แห้ง
เตรียมจัดของใช้สำหรับ ผู้ต้องแยกกักกับผู้อื่น เช่น ผ้าเช็ดตัว เสื้อผ้า อุปกรณ์การกินอาหาร อุปกรณ์ทำความสะอาด หลีกเลี่ยงการอยู่ใกล้ชิดกับ ผู้แยกกัก โดยเฉพาะในห้องที่ใช้เครื่องปรับอากาศ แยกตะกร้าและแยกซัก ส่วนการใช้เครื่องซักผ้าสามารถซักรวมกันได้ โดยให้ซักผ้าของผู้ที่พักอาศัยและผู้ดูแลที่อยู่ร่วมกันก่อน
ส่วนผู้แยกกักตัวให้ซักเป็นคนสุดท้าย และภายหลังการซักแล้ว ให้ฆ่าเชื้อด้วยน้ำยาฟอกขาว หรือน้ำยาฆ่าเชื้อ (เดทตอล) ปั่นหลังซักเสร็จ เพื่อทำความสะอาดถังเครื่องซักผ้าซักอีกครั้ง ควรทำสะอาดบ้านสม่ำเสมอทุกวันด้วยน้ำยาถูพื้นหรือน้ำยาฆ่าเชื้อ สำหรับเช็ดพื้นผิว และน้ำยาอเนกประสงค์ บริเวณจุดสัมผัสต่าง ๆ
สำหรับการกินอาหาร ต้องเน้น ปรุงสุก กินอาหารที่มีประโยชน์ ดื่มน้ำสะอาด 6-8 แก้วต่อวัน พักผ่อนให้เพียงพอ หากิจกรรมผ่อนคลายเพื่อลดภาวะเครียด และขยะจากผู้ป่วยทุกชิ้นถือเป็นขยะติดเชื้อ ควรกำจัด ให้ถูกวิธีคือ รวบรวมขยะทั้งหมดใส่ในถุง 2 ชั้น ราดด้วยสารฆ่าเชื้อ เช่น แอลกอฮอล์ 70% สารฟอกขาว เพื่อทำลายเชื้อ แล้วปิดปากถุงให้สนิท และฉีดสารฆ่าเชื้อบริเวณปากถุงก่อนทิ้งที่ถังขยะติดเชื้อ
อย่างไรก็ดี เจ้าของหรือนิติบุคคลคอนโดมิเนียมหรือแฟลต ขอให้เพิ่มช่องทางประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับโรคโควิด-19 เพื่อแจ้งเตือนพนักงาน ผู้พักอาศัย และผู้มาเยี่ยม เช่น โปสเตอร์การเว้นระยะห่าง การล้างมือและการสวมหน้ากากอนามัยที่ถูกวิธี รวมถึงแนวทางการปฏิบัติตัวให้กับผู้อยู่อาศัย มีการทำความสะอาดพื้นที่ส่วนกลางเป็นประจำทุกวัน
และเพิ่มความถี่ในจุดเสี่ยงโดยใช้น้ำยาฆ่าเชื้อเช็ดทำความสะอาดบริเวณที่มีการสัมผัสร่วมกันบ่อย ๆ เช่น ราวบันได ปุ่มกดลิฟต์ ลูกบิดประตู ตู้จดหมาย ป้ายประชาสัมพันธ์ โต๊ะ เก้าอี้ อุปกรณ์ฟิตเนส เครื่องเล่นเด็ก รวมทั้งอาจจัดให้มีจุดบริการแอลกอฮอล์เจล 70% บริเวณจุดเข้า-ออก ต่าง ๆ ด้วย
นอกจากนี้ นิติบุคคลคอนโดมิเนียมหรือแฟลต ควรจัดให้มีเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบของสถานประกอบการในการโทรแจ้งและติดต่อกับหน่วยงานสาธารณสุขในพื้นที่ หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อดำเนินการควบคุมโรคตามแนวทางของกระทรวงสาธารณสุขต่อไป