รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
19 มกราคม 2565 ทะลุ 334 ล้านไปแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 2,755,657 คน ตายเพิ่ม 7,372 คน รวมแล้วติดไปรวม 334,651,148 คน เสียชีวิตรวม 5,572,200 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อเมริกา อินเดีย อิตาลี และบราซิล
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 84.25% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 86.25%
ล่าสุดจำนวนติดเชื้อใหม่จากทวีปยุโรปนั้นคิดเป็น 49.86% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 50.84%
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปครอง 5 ใน 10 อันดับแรก และ 10 ใน 20 อันดับแรกของโลก
อัพเดต Omicron (โอมิครอน)
องค์การอนามัยโลกออกรายงานล่าสุด WHO Weekly Epidemiological Update เมื่อวานนี้ 18 มกราคม 2565
ทั่วโลกมีจำนวนคนติดเชื้อเพิ่มรายสัปดาห์ที่ผ่านมาสูงกว่าสัปดาห์ก่อนหน้า 20% ตายเพิ่มสูงขึ้น 4%
ทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นั้นสถานการณ์แย่สุด ติดเชื้อรายสัปดาห์เพิ่มขึ้นกว่าเดิมถึง 145% และตายเพิ่มสูงกว่าเดิม 12% จะเห็นได้ว่าสถิติตั้งติดเชื้อและตายสูงกว่าค่าเฉลี่ยของทั้งโลก
ในการตรวจสายพันธุ์ของทั่วโลกรอบ 30 วันที่ผ่านมา พบสัดส่วนของ Omicron สูงถึง 71.9% ส่วนเดลตาเหลือเพียง 28%
ขณะนี้ Omicron (B.1.1.529) แตกลูกหลานเป็นสายพันธุ์ย่อย BA.1, BA.2, BA.3 โดย BA.1 นั้นมีสัดส่วนครองการระบาดมากกว่า 99%
สถิติเรื่องการฉีดวัคซีน หากดูภาพรวมของทั้งโลก ณ วันที่ 15 ธันวาคม 2564 มีประชาชนในประเทศรายได้ต่ำเพียง 9% ที่ได้รับวัคซีนไปอย่างน้อย 1 โดส ในขณะที่ประชาชนในประเทศที่รายได้สูงนั้นได้รับไปแล้ว 66%
การระบาดแต่ละระลอกที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดผลกระทบมากมายทั้งทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคม โดยผลกระทบด้านสังคมนั้นเห็นชัดเจนมากขึ้นเรื่อยๆ
ปัญหาความไม่เป็นธรรม และความไม่เพียงพอในเรื่องของวัคซีนและยานั้นจำเป็นต้องได้รับการจัดการแก้ไขทั้งในระดับประเทศและระดับโลก ซึ่งต้องใช้เวลาอีกระยะนานพอสมควร จนกว่าโควิด-19 จะนิ่ง
อย่างไรก็ตาม เรื่องสำคัญที่ต้องเตรียมรับมือคือ ถัดจากนี้ไป Long COVID จะเป็นเรื่องที่เห็นชัดเจนขึ้น
การป้องกันตนเองและครอบครัวอย่างเคร่งครัดเป็นสิ่งที่ควรทำ
ไม่ติดเชื้อจะดีที่สุด