นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า
ไวรัสโควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) เป็นไวรัสที่ติดกันง่ายที่สุด ง่ายกว่าเชื้อโรคทางเดินหายใจทุกชนิดในโลก ไม่น่าแปลกใจที่ทุกคนในโลกนี้ไม่ช้าก็เร็วจะได้รับเชื้อโอมิครอน
ถึงแม้ว่าเราจะใส่หน้ากาก 2 ชั้น ก็ยังมีโอกาสติดได้ มีหนทางเดียวต้องใส่หน้ากากชนิด N95 ตลอดเวลาซึ่งเป็นไปไม่ได้
โชคดีที่ตัวเชื้อโอมิครอนไม่ก่อให้เกิดโรครุนแรง และถ้าได้ฉีดวัคซีนครบโดสและได้เข็มกระตุ้น อาการยิ่งน้อยลงไปอีก เป็นเหมือนหวัดธรรมดา
กฎเกณฑ์การตรวจการติดเชื้อโอมิครอนควรเป็นแบบเดียวกับไข้หวัดใหญ่ ไข้หวัดใหญ่ใช้การตรวจแบบรวดเร็ว ถ้าให้ผลบวก
แพทย์วินิจฉัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ และให้ยารักษาเลย โดยไม่จำเป็นต้องตรวจรหัสพันธุกรรม RT-PCR เพื่อยืนยันว่าเป็นไข้หวัดใหญ่
ส่วนใหญ่แพทย์จะทำ RT-PCR สำหรับไข้หวัดใหญ่ในกรณีที่คนไข้เข้านอนรักษาในโรงพยาบาล สงสัยว่าเป็นไข้หวัดใหญ่ ถึงแม้ว่าจะได้รับการตรวจแบบรวดเร็วตอนแรกให้ผลลบ
การตรวจโควิด-19 แบบรวดเร็ว ATK ควรตรวจเมื่อมีอาการ และสงสัยว่าติดเชื้อโควิด
หรือเป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่ใกล้ชิดกับคนที่ยืนยันว่าติดเชื้อแล้ว
ไม่มีความจำเป็นต้องตรวจ ATK คัดกรองสำหรับคนทั่วไปที่ไม่มีอาการ และไม่ใช่กลุ่มเสี่ยง
ยกเว้นว่าตรวจก่อนจะไปพบปะรวมกลุ่มเลี้ยงสังสรรค์กับคนจำนวนมากในสถานที่แคบ ติดตั้งปรับอากาศ อากาศถ่ายเทไม่ดี
หรือเดินทางเป็นหมู่คณะในรถโดยสารปรับอากาศด้วยกัน หรือต้องไปพบผู้ที่มีโอกาสป่วยหนักหากติดเชื้อ เช่นคนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรังและหญิงตั้งครรภ์
สำหรับคนที่มีอาการเจ็บคอ มีน้ำมูก ไอ ไข้ ปวดหัว ปวดตัว และตรวจ ATK ที่บ้านแล้วให้ผลบวก วินิจฉัยได้เลยว่าติดเชื้อโควิด-19
ส่วนใหญ่อาการไม่มาก ให้แยกกักตัวที่บ้านไม่จำเป็นต้องไปตรวจ RT-PCR สำหรับ SARS-CoV-2 เพื่อยืนยันว่าติดโรคโควิด-19
การตรวจ RT-PCR มีความจำเป็นสำหรับผู้ป่วยที่สงสัยโควิด ผล ATK ลบหรือบวก มีอาการมากต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล
ค่าตรวจ RT-PCR สำหรับ SARS-CoV-2 แพงกว่า ATK ประมาณ 30 เท่า
ถ้าเรายังทำการตรวจ RT-PCR ทุกคนเพื่อยืนยันว่าติดเชื้อโควิด-19 เราจะเสียเงินเป็นหมื่นล้านบาท มากกว่าเงินที่ใช้ในการซื้อวัคซีนเสียอีก
ถึงเวลาแล้วที่ภาครัฐควรรวมสถิติของผลบวก ATK กับ RT-PCR เข้าด้วยกันเพื่อรายงานว่าคนในประเทศไทยติดเชื้อไวรัสโควิด-19 วันละกี่คน ไม่ใช่ใช้แต่ตัวเลขของ RT-PCR อย่างเดียว