ผลกระทบจากโควิด19 รัฐยังแบกไหวหรือไม่ ควรปรับแนวทางรับมืออย่างไร เช็คเลย

15 ก.พ. 2565 | 02:56 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2565 | 10:07 น.

ผลกระทบจากโควิด19 รัฐยังแบกไหวหรือไม่ ควรปรับแนวทางรับมืออย่างไร อ่านครบจบที่นี่ หมอมนูญชี้คนไทยติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าการระบาดรอบก่อนหลายเท่า 

นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์ (หมอมนูญ) ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ โพสต์ผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (หมอมนูญ ลีเชวงวงศ์ FC) โดยมีข้อความระบุว่า 

 

เชื้อไวรัสโควิด-19 (Covid-19) สายพันธุ์โอมิครอน (Omicron) แพร่เร็วมากกว่าสายพันธุ์เดลตา (Delta) 3 เท่า 

 

แน่นอนจะทำให้จำนวนคนไทยติดเชื้อเพิ่มขึ้นมากกว่าการระบาดรอบก่อนหลายเท่า 

 

แต่ความรุนแรงของโรคลดลง  อัตราการเสียชีวิตน้อยกว่าเดิมอย่างน้อย 6 เท่า 
อาการของโรคส่วนใหญ่เหมือนหวัดธรรมดา โดยเฉพาะคนที่ได้รับวัคซีนครบโดสแล้ว

 

เมื่อเชื้อเปลี่ยนไป และ 70% ของประชากรไทยได้รับการฉีดวัคซีน 2 เข็ม และ 25% ของประชากรได้รับวัคซีนเข็ม 3 แล้ว 
 

ประเทศไทยควรปรับแนวทางการรับมือสายพันธุ์โอมิครอนเหมือนหลายๆประเทศ ให้คนไทยเรียนรู้อยู่ร่วมกับโควิด 

 

ไม่ใช่เน้นแต่ดูแลรักษาโรคนี้อย่างเดียว ต้องคำนึงถึงงบประมาณ และเศรษฐกิจของประเทศด้วย

 

หลายประเทศยกเลิกการตรวจค้นหา และยืนยันการติดเชื้อด้วยวิธี RT-PCR เพราะสิ้นเปลืองงบประมาณมากเกินไป 

 

ให้ตรวจ RT-PCR เฉพาะคนไข้กลุ่มเสี่ยงที่มีอาการต้องนอนรักษาในโรงพยาบาล คนไข้ในบ้านพักคนชราและศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ 

 

แนะปรับแนวทางรับมือโอมิครอน

 

คนที่รู้ตัวว่าตัวเองติดเชื้อด้วยการตรวจ ATK ไม่มีอาการหรืออาการน้อย หลายประเทศปล่อยให้คนติดเชื้อรับผิดชอบตัวเองและสังคมโดยการรักษาตัวเอง 

 

กินยาสามัญประจำบ้านตามอาการ กักตัวที่บ้านอย่างน้อย 5 วัน ใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างและหมั่นล้างมือ 

เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อให้ผู้อื่น ไม่ต้องไปกักตัวที่โรงพยาบาลรัฐ รพ.เอกชน รพ.สนาม ฮอสปิเทล หรือศูนย์พักคอยในชุมชน

 

รัฐไม่ต้องส่งอาหาร ยาฟาวิพิราเวียร์ปรอท เครื่องวัดออกซิเจนที่ปลายนิ้วฟรี ให้กับคนติดเชื้อทุกคน 

 

ควรเลือกให้เฉพาะคนในกลุ่มเสี่ยง คนสูงอายุ คนที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 โรค หญิงตั้งครรภ์ และคนที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มเดียว

 

ปัจจุบันโรคโควิด-19 ถูกจัดเป็นภาวะฉุกเฉินวิกฤต (UCEP Covid) รักษาฟรีได้ในทุกโรงพยาบาล 

 

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมยกเลิกโรคโควิด-19 จากภาวะฉุกเฉินวิกฤตรักษาได้ทุกที่ 

 

หากไปโรงพยาบาลเอกชนต้องจ่ายเอง ยกเว้นมีอาการฉุกเฉิน เช่นไข้สูง หอบ เหนื่อย ไม่ค่อยรู้ตัว 

 

เพราะรัฐแบกรับภาระค่าใช้จ่ายไม่ไหว ซึ่งผมเห็นด้วยเพราะรัฐต้องเก็บงบประมาณไว้ดูแลรักษาโรคอื่นๆด้วย 

 

รัฐต้องสื่อสารให้ประชาชนเข้าใจ อย่าวิตกกังวลมากเกินไป

 

สำหรับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2565 นั้น "ฐานเศรษฐกิจ" ติดตามข้อมูลจากศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. พบว่า

 

ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 14,373 ราย  

 

ผู้ป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 399,165 ราย  เสียชีวิตเพิ่ม 27 ราย หายป่วยเพิ่ม 11,551 ราย กำลังรักษา 132,728 ราย

 

หายป่วยสะสม(ตั้งแต่ 1 ม.ค.65) 298,889 ราย