ศธ.ตั้งสถานีไกล่เกลี่ย “หนี้ครู” แห่ลงทะเบียนแล้วกว่า 7,000 ราย 

15 ก.พ. 2565 | 11:50 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.พ. 2565 | 18:58 น.

2 วันแรก“ครู”แห่ลงทะเบียนโครงการแก้หนี้ครูเกือบ 7,400 ราย “ตรีนุช” ตั้งเป้าลดภาระหนี้โดยรวมให้น้อยลง ตั้งสถานีช่วยไกล่เกลี่ยแก้หนี้แบบเบ็ดเสร็จ ดึงเครดิตบูโรคุมยอดหนี้กู้ใหม่ต้องไม่เกิน 70% ขานรับนโยบาย“พล.อ.ประยุทธ์”ที่ต้องการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน

นางสาวตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เปิดเผยว่า ตามนโยบายของรัฐบาล โดย พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ให้เร่งดำเนินการแก้ไขหนี้สินให้กับประชาชน และให้ปี 2565 เป็นปีแห่งการแก้ไขหนี้สินภาคครัวเรือน รวมถึงปัญหาหนี้สินของครู

 

กระทรวงศึกษาธิการ ได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว จึงมีนโยบายในการช่วยแก้ไขหนี้ครูมาอย่างต่อเนื่อง โดยล่าสุดเมื่อวันที่ 14 ก.พ.2565 ที่ผ่านมา กระทรวงศึกษาธิการ ได้เปิดโครงการ “สร้างโอกาสใหม่ให้ครูไทย” โดยเปิดให้ครูและบุคลากรทางศึกษาเข้ามาลงทะเบียนผ่านออนไลน์เพื่อแจ้งความประสงค์ ในการเข้าสู่ขั้นตอนกระบวนการ เพื่อการแก้ไขปัญหาหนี้ โดยในรอบแรกสามารถลงทะเบียนได้ตั้งแต่วันที่ 14 ก.พ.-14 มี.ค. 2565 

“ในรอบแรกนี้ หลังเปิดให้ลงทะเบียนแล้ว 2 วัน มีผู้มาลงทะเบียนไม่น้อยกว่า 7,364 ราย เป้าหมายการดำเนินงานครั้งนี้ เป็นแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สินครูในภาพรวมอย่างเป็นระบบ” 

 

นางสาวตรีนุช กล่าวอีกว่า สำหรับเป้าหมายของการแก้ไขหนี้ครูนั้น เพื่อต้องการยุบยอดหนี้ให้ลดลง หรือ ลดภาระหนี้โดยรวมของครูให้น้อยลง รวมถึงการช่วยบริหารจัดการทางการเงินให้ครูมีรายได้ไม่น้อยกว่า 30% ของเงินเดือนในการใช้จ่าย อีกทั้งยังทำให้ครูและบุคลากรทางการศึกษา ได้มีคุณภาพชีวิตที่ดี ซึ่งส่งผลต่อคุณภาพทางการศึกษา 

“ทั้งยังเป็นการสร้างฐานข้อมูลของกระทรวงฯ เกี่ยวกับภาระหนี้สินครู โดยเป็นความร่วมมือของผู้เกี่ยวข้องจากหลายหน่วยงาน ทั้งภาครัฐและเอกชนมาร่วมกันแก้ไขปัญหาครูที่มีหนี้สิน” นางสาวตรีนุช กล่าว 

 

ทั้งนี้ครูที่มีหนี้สินทุกคนในสหกรณ์ออมทรัพย์ แนวทางในการช่วยเหลือ ก็คือ การลดดอกเบี้ยเงินกู้ลง โดยอยู่ระหว่าง 0.05-1.00% ซึ่งขณะนี้มีสหกรณ์เข้าร่วมโครงการนี้แล้วรวม 70 แห่ง จากสหกรณ์ทั้งหมด 108 แห่งทั้วประเทศ โดยมีสหกรณ์ 10 แห่ง ที่ลดดอกเบี้ยลงเหลือต่ำกว่า 5% การแก้ไขหนี้ครูครั้งนี้ จะมีครูได้รับประโยชน์มากถึง 460,000 คน  

 

นอกจากนี้ กระทรวงศึกษาธิการ ยังได้หารือและได้รับความร่วมมือจากธนาคารออมสิน ในการชะลอการดำเนินการทางกฎหมายกับครูที่เป็นหนี้เอ็นพีแอลอีกจำนวน 25,000 ราย 
 

 

สำหรับในกรณีที่ครูต้องการเงินกู้ ในส่วนก็จะมีคณะกรรมการพิจารณาและควบคุมการอนุมัติเงินกู้ โดยได้รับความช่วยเหลือจากเครดิตบูโรในการเชื่อมต่อระบบข้อมูล เพื่อควบคุมยอดหนี้ทั้งหมดไม่ให้มากกว่า 70% ของรายได้ (ครูจะสามารถมีเงินใช้จ่ายได้ 30% ของเงินเดือน)  อย่างไรก็ตาม หากตรวจพบว่าครูที่ต้องการกู้เงินเพิ่มเติมแต่มีหนี้รวมมากกว่า 70% ก็จะไม่ได้รับการอนุมัติให้กู้เพิ่ม

 

 

ทั้งนี้ กรณีที่ครูมีปัญหาทางการเงินไม่สามารถชำระหนี้เงินกู้ได้ต้องปรับโครงสร้างหนี้ ก็จะมีสถานีแก้หนี้ 2 ระดับ เพื่อไกล่เกลี่ย หรือทำการประนอมหนี้ หรือปรับโครงสร้างหนี้ โดยในระดับแรก คือ ระดับเขตพื้นที่การศึกษา โดยสถานีแก้หนี้ระดับเขตพื้นที่ของหน่วยงานต้นสังกัด (สพฐ./สอศ./กศน./สช.) ซึ่งมีผู้อำนวยการเขตพื้นที่เป็นประธาน จะทำหน้าที่เป็นคนกลางในการไกล่เกลี่ยเพื่อปรับโครงสร้างหนี้ระหว่างเจ้าหนี้ และครู 

                                                    ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

หากการไกล่เกลี่ยไม่สำเร็จ ก็จะเป็นระดับที่สองโดยการยกระดับการแก้ไขสู่สถานีแก้หนี้ระดับจังหวัด ซึ่งมีผู้ว่าฯ หรือรองผู้ว่าฯ เป็นประธาน ซึ่งจะมีหน้าที่ไกล่เกลี่ยหนี้ที่ไม่สามารถหาแนวทางในระดับเขตพื้นที่ได้ โดยต้องมีตัวแทนจากหน่วยงานต่างๆ เข้าร่วมเป็นกรรมการในการแก้ไข ศาลยุติธรรมพร้อมให้การสนับสนุน โดยสามารถประสานศูนย์ไกล่เกลี่ยหนี้ของศาล เพื่อหาแนวตกลงร่วมกัน

 

สำหรับแนวทางสนับสนุนการแก้ไข นอกจากหารือด้วยการปรับโครงสร้างหนี้แล้ว อาจสามารถทำได้ (ขึ้นอยู่กับปัญหาลูกหนี้ และสถานะทางการเงินที่มี) โดยสามารถให้ครูนำเงินอนาคตมาใช้เป็นหลักทรัพย์ในการค้ำประกันเงินกู้ได้ เช่น เงินบำเหน็จตกทอด เงินชพค. ซึ่งมีประมาณ 900,000 บาทต่อคน ใช้ปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับธปท. 

 

นอกจากนี้ ยังมีเงินหุ้นสหกรณ์ จากเดิมหากขาดส่งเงินค่าหุ้นประจำเดือนมากกว่า 3 เดือน จะเสียสิทธิประโยชน์ ก็จะมีการแก้ไขโดยให้มีการหักเงินค่าหุ้นสหกรณ์เป็นลำดับต้น เพื่อให้สิทธิครูนำผลประโยชน์ที่ได้จากหุ้นสหกรณ์นำมาใช้เป็นหลักทรัพย์ค้ำประกันได้

 

นางสาวตรีนุช ยังกล่าวด้วยว่า ในส่วนของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (15 ก.พ.65) ยังให้ความเห็นชอบเพิ่มเงินอุดหนุนนักเรียนพิการในโรงเรียนเอกชนประเภทสามัญศึกษา และอาชีวศึกษา โดยปรับเพิ่มเงินอุดหนุนให้สมทบเงินเดือนครู ผู้ช่วยครู และค่าใช้จ่ายสำหรักบนักเรียนพิการ ประเภทไป-กลับ ซึ่งจะช่วยให้สถานศึกษามีค่าใช้จ่ายในการจัดการศึกษาสำหรับคนพิการได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

 

โดยมีจำนวนนักเรียนพิการได้รับการช่วยเหลือ จำนวน 4,762 คน จำแนกเป็นประเภทสามัญ 4,452 คน และประเภทอาชีวศึกษา 310 คน โดยใช้งบประมาณจำนวน 118,739,045 บาท มีผลในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566

 

ทั้งนี้อัตราที่ปรับเพิ่มในทุกระดับชั้น ประกอบด้วย ระดับก่อนประถมศึกษา ระดับประถมศึกษา ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนถึงระดับปชว. อย่างไรก็ตาม เรื่องเงินอุดหนุนดังกล่าว ดร.กนกวรรณ วิลาวัลย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นผู้ดูแลในรายละเอียด

 

รมว.ศึกษาธิการ กล่าวอีกว่า ในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ยังได้พิจารณาเรื่องสำคัญของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เสนอโดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) เพื่อผลักดันการดำเนินงานพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในภาพรวมให้เกิดขึ้นอย่างมีเอกภาพและประสิทธิภาพ

 

โดยคณะรัฐมนตรีได้พิจารณาเห็นชอบแผนปฏิบัติการด้านการพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ ปี พ.ศ. 2564 - 2580 ตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ ซึ่งเรื่องดังกล่าวอยู่ในการดูแลของคุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ

 

แผนปฏิบัติการดังกล่าว สสวท. ในฐานะของฝ่ายเลขานุการของคณะกรรมการกำหนดนโยบายการดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้จัดทำร่างแผน และปรับปรุงตามความเห็นของคณะกรรมการและหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อพัฒนากลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษโดยเฉพาะด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ จากกลุ่มผู้มีความสามารถพิเศษในทุกแขนงของประเทศ ซึ่งมีประมาณ 3% ของจำนวนประชากรวัยเรียน 

 

“แผนปฏิบัติการดังกล่าวนี้ จะทำให้เกิดการพัฒนาผู้มีความสามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศในภาพรวมอย่างเป็นเอกภาพของทุกภาคฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เริ่มต้นการดำเนินการพัฒนาตั้งแต่ระดับปฐมวัยไปจนถึงระดับอุดมศึกษาผ่านโครงการที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินงาน” นางสาวตรีนุช กล่าว