“สาธิต” ชี้โควิดเป็น “โรคประจำถิ่น” ไม่เกี่ยวรัฐงบหมด

18 ก.พ. 2565 | 00:00 น.
อัปเดตล่าสุด :21 ก.พ. 2565 | 17:54 น.

“สาธิต” ยันยังไม่ประกาศให้ “โควิด-19” เป็นโรคประจำถิ่น แย้มแค่เตรียมการให้ประชาชนคุ้นชิน ไม่ยึดติดตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่ง ย้ำไม่เกี่ยวเรื่องงบประมาณ ไม่มีเงินดูแลค่ารักษา แต่เป็นจิตวิทยาให้คนกลัวน้อยลง

จากที่กระทรวงสาธารณสุข เตรียมออกประกาศกระทรวงสาธารณสุข ถอนโรคโควิด-19 จากโรคระบาดฉุกเฉินที่วิกฤต (UCEP) ให้เป็นโรคประจำถิ่น เพื่อให้เข้าสู่ระบบการดูแลสุขภาพปกติ สามารถเข้ารับการรักษาพยาบาลได้ตามสิทธิประกันสุขภาพปกติของแต่ละคน คือ สิทธิข้าราชการ ประกันสังคม หรือระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า (บัตรทอง)

 

ทั้งนี้ประเด็นดังกล่าวกำลังเป็นข้อสงสัยให้กับประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะผู้ที่ไม่ได้อยู่ในระบบประกันสุขภาพ อาจจะต้องได้รับผลกระทบ หากติดเชื้อโควิดขึ้นมา จะไม่ได้รับการดูแลจากภาครัฐ และมีการตั้งข้อสงสัยว่า เหตุใดถึงจำเป็นหรือเร่งรีบที่จะถอนให้เป็นโรคประจำถิ่น เป็นการโยนภาระค่ารักษาโควิดให้กับประชาชน เนื่องจากภาครัฐไม่มีงบประมาณในการดูแลแล้วใช่หรือไม่

โอมิครอน

นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข เปิดเผยกับ ”ฐานเศรษฐกิจ” ว่า การประกาศปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่นนั้น เป็นเรื่องของการเตรียมการที่จะปรับในอนาคต ไม่ใช่ปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่นในทันที ทั้งนี้เพื่อให้ประชาชนได้คุ้นชินและไม่โฟกัสกับจำนวนผู้ติดเชื้อมากเกินไป ส่วนกำหนดที่จะปรับเป็นโรคประจำถิ่น ยังไม่มีความแน่นอน ยังต้องรอดูสถานการณ์อีกสักระยะหนึ่ง เพื่อให้ความชัดเจนของตัวเลขการฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้มากที่สุดก่อน

 

รวมไปถึงเรื่องของจำนวนผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงและเสียชีวิตที่ต้องไม่มากเกินไป หรือจะต้องไม่ใช่ขาขึ้นแต่ต้องเป็นตัวเลขขาลง ซึ่งเกณฑ์ของการปรับโควิดเป็นโรคประจำถิ่น ณ สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่ได้เข้าเกณฑ์ทั้ง 5 เกณฑ์ที่เราตั้งไว้ ฉะนั้นตอนนี้คือ มีแผนที่จะปรับ แต่ยังไม่ได้มีการปรับจริง ไม่ใช่เรื่องของงบประมาณแต่เป็นเรื่องของการจิตวิทยาให้คนกลัวโรคนี้น้อยลง

 

ส่วนในประเด็นที่กำลังพูดถึงกันในเรื่องของค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลหรือยูเซ็ป โควิด (UCEP) ซึ่งใช้เฉพาะกับโรงพยาบาลเอกชนเท่านั้น เนื่องจากโควิดที่ผ่านมาจำนวนเคสที่เยอะเกินไปจนศักยภาพเตียงของโรงพยาบาลรัฐไม่สามารถรองรับการรักษาได้ทั้งหมด จำเป็นจะต้องรวมศักยภาพเตียงของทุกเครือข่ายโรงพยาบาลซึ่งรวมถึงโรงพยาบาลเอกชนในกรุงเทพฯและปริมณฑลด้วย

 

การประกาศยกเลิกยูเซ็ป (UCEP) จึงเป็นเรื่องของการไม่ให้เอกชนรับรักษาแล้ว รัฐบาลชำระค่ารักษาพยาบาลตามหลักยูเซ็ป ซึ่งปกติแล้วยูเซ็ปคือการที่โรงพยาบาลเอกชนให้การรักษาและรัฐเป็นผู้รับผิดชอบค่ารักษาโดยใช้ราคาของรัฐ x 25% ซึ่งที่ผ่านมาเราขอให้โรงพยาบาลเอกชนช่วยตามสถานการณ์

สาธิต ปิตุเตชะ

อย่างไรก็ตาม จากการค้นข้อมูลของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า ในการจัดงสรรงบประมาณประจำปี 2565 โดยกระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรงบประมาณราว 1.53 แสนล้านบาท ลดลงจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 จำนวน 4,338.1 ล้านบาท แบ่งเป็นงบประจำถึง 136,919.5 ล้านบาท และเป็นงบลงทุน 17,020.9 ล้านบาท เป็นต้น

 

ขณะการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ในปี 2563 กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรจากพ.ร.ก.กู้เงิน กรอบวงเงิน 45,000 ล้านบาท แต่การระบาดที่มีอย่างต่อเนื่องส่งให้งบประมาณที่ตั้งไว้ไม่เพียงพอและต้องโยกงบประมาณจากแผนงานฟื้นฟูเศรษฐกิจเข้ามารวมแล้วจัดสรรให้ด้านสาธารณสุขรวม 63,900 ล้านบาท ผ่านการอนุมัติ 51 โครงการ และยังขอใช้งบกลาง 2564 เพื่อใช้ควบคุมสถานการณ์การระบาดของโรคโควิด-19 ไม่น้อยกว่า 40,000 ล้านบาท

 

เมื่อมีการออกพ.ร.ก.กู้เงินอีก 5 แสนล้านบาท เพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคววีด-19 ข้อมูล ณ วันที่ 26 มกราคม 2565 กระทรวงสาธารณสุข ได้รับการจัดสรรวงเงิน วงเงิน 110,000 ล้านบาท อนุมัติแล้ว 109,881 ล้านบาท จำนวน 13 โครงการ วงเงินคงเหลือ 118 ล้านบาท

 

แบ่งเป็น 3 โครงการย่อย 1.จัดหาเครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์ทางการแพทย์ ยารักษาโรค วัคซีน และการวิจัย พัฒนาและผลิตวัคซีนในประเทศ วงเงิน 57,165 ล้านบาท 2.ปรับปรุงสถานพยาบาลสำหรับการบำบัดรักษาผู้ติดเชื้อโควิด 223 ล้านบาท 3.รองรับค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุข 52,492 ล้านบาท