น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
มีนาคม 2565 ผู้ติดเชื้อจะเพิ่มเร็วขึ้นอีก 20% เนื่องจากโอมิครอน (Omicron) สายพันธุ์ย่อยที่ 2 (BA.2) จะแซงสายพันธุ์ย่อยที่ 1 (BA.1)ในอีกไม่เกิน 2 สัปดาห์
สถานการณ์โควิดระลอกที่ 4 ของไทย ซึ่งมีโอมิครอนเป็นสายพันธุ์หลักในขณะนี้นั้น
เราเริ่มพบเคสแรก ซึ่งเป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2564
และในเวลาเพียง 3 สัปดาห์คือ ในช่วง 27-28 ธันวาคม 2564 ไวรัสโอมิครอนก็เป็นสายพันธุ์หลัก แซงเดลตา ด้วยสัดส่วน 66.5%
และโอมิครอนยังคงเพิ่มจำนวนเป็นสายพันธุ์หลักต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน
จากการสำรวจของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ในช่วงวันที่ 12-18 กุมภาพันธ์ 2565 พบไวรัสโอมิครอนในผู้ติดเชื้อเกือบทุกราย (97.85%)
เมื่อโอมิครอนกลายเป็นสายพันธุ์หลักของการระบาดในระลอกที่ 4 ซึ่งนับตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 จึงทำให้มีผู้ติดเชื้อด้วยอัตราเพิ่มที่เร็วกว่าไวรัสเดลตามาก
เพราะโดยธรรมชาติของไวรัสโอมิครอนแพร่เร็วกว่าไวรัสเดลตา 4-8 เท่า
อย่างไรก็ตามได้ มีการพบสายพันธุ์ย่อยที่ 2 ตามหลังสายพันธุ์ย่อยที่ 1 ของโอมิครอน และศึกษาพบว่ามีความสามารถในการแพร่ระบาดได้เร็วกว่า 40%
นั่นหมายความว่า ถ้าประเทศใดมีไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ 2 เป็นหลักทั้งหมด ก็จะทำให้ยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มมากกว่าการมีไวรัสโอมิครอนสายพันธุ์ย่อยที่ 1 ขึ้นไปอีก 40%
การติดตามดูว่าจำนวนผู้ติดเชื้อที่เป็นไวรัสสายพันธุ์ย่อยที่ 2 มีสัดส่วนเป็นอย่างไร จึงมีความสำคัญในการประมาณการจำนวนผู้ติดเชื้อ
พบว่าในช่วงเวลาห่างกันเพียงสัปดาห์เดียว สายพันธุ์ย่อยที่ 2 ได้เพิ่มขึ้นเกือบหนึ่งเท่าตัว
โดยวันที่ 5-11 กุมภาพันธ์ 2565 พบสายพันธุ์ย่อยที่สอง 18% สายพันธุ์ย่อยที่หนึ่งพบ 82%
12-18 กุมภาพันธ์ 2565 พบสายพันธุ์ย่อยที่สอง 32% สายพันธุ์ย่อยที่หนึ่งพบ 67%
จึงคาดว่า ในอีก 2 สัปดาห์ข้างหน้า สายพันธุ์ย่อยที่ 2 น่าจะเป็นสายพันธุ์หลัก ด้วยสัดส่วนมากกว่า 50%
จะทำให้อัตราการเพิ่มขึ้นของผู้ติดโควิดในช่วงเดือนมีนาคม มีอัตราการเพิ่มเร็วกว่าช่วงมกราคม-กุมภาพันธุ์ (ที่มีสายพันธุ์ย่อยที่หนึ่งเป็นหลัก) อีก 20%
และในช่วงถัดไป เมื่อสายพันธุ์ย่อยที่สองเป็นหลักเกือบ 100% ก็จะทำให้อัตราการติดเชื้อเพิ่มเร็วขึ้นจาก 20% เป็น 40%
คาดว่าจะส่งผลให้โควิดระลอกที่ 4 เข้าสู่จุดสูงสุดหรือพีคเร็วขึ้นกว่าที่คาดไว้ และด้วยจำนวนผู้ติดเชื้อที่สูงขึ้นด้วย
การรับมือกับไวรัสโอมิครอนในมิติของจำนวนผู้ติดเชื้อ จึงทำได้ด้วยความยากลำบาก
แต่การรับมือในมิติของจำนวนผู้เสียชีวิต มีโอกาสจะประสบผลสำเร็จมากกว่า โดยการเร่งฉีดวัคซีนเข็ม 3 ให้กลุ่มเสี่ยงคือ ผู้สูงอายุ และกลุ่มมีโรคประจำตัว
ก็จะทำให้สถานการณ์โควิดระลอกที่ 4 มีจำนวนผู้ติดเชื้อมากกว่าระลอกที่ 3 แต่มีจำนวนผู้เสียชีวิตน้อยกว่าได้