ยอดผู้ติดเชื้อโควิดวันนี้ยังคงอยู่ในระดับสูงทั้งการตรวจจาก PCR และ ATK โดยประเด็นที่สำคัญที่ได้รับความสนใจตามมาก็คือ อาการผลกระทบในระยะยาว หรือ Long COVID
ล่าสุดรศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
2 มีนาคม 2565 ทะลุ 436 ล้านแล้ว
เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่มสูงถึง 1,220,795 คน ตายเพิ่ม 6,364 คน รวมแล้วติดไปรวม 438,376,540 คน เสียชีวิตรวม 5,982,555 คน
5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน เกาหลีใต้ รัสเซีย ฝรั่งเศส และตุรกี
จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชีย ยุโรป และอเมริกาเหนือ/ใต้ ซึ่งรวมกันคิดเป็น 95.1% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 97.62%
ในขณะที่ยุโรปนั้นคิดเป็น 51.72% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 41.48%
เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 9 ใน 10 อันดับแรก และ 16 ใน 20 อันดับแรกของโลก
สถานการณ์ระบาดของไทย
เมื่อวานนี้หากดูเฉพาะจำนวนติดเชื้อยืนยัน จะสูงเป็นอันดับ 17 ของโลก
แต่หากรวม ATK ด้วย จะพุ่งไปถึงอันดับ 8 ของโลก และอันดับ 4 ของเอเชีย
งานวิจัยจากเดนมาร์กเรื่องปัญหา Long COVID
Sorensen AIV และทีมวิจัยจากประเทศเดนมาร์ก เผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv เมื่อ 28 กุมภาพันธ์ 2565
ศึกษาในเดือนกันยายน 2563 ถึงเมษายน 2564 ในกลุ่มประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป จำนวนทั้งสิ้น 152,880 คน โดยเปรียบเทียบกลุ่มที่มีประวัติตรวจพบว่าติดเชื้อโรคโควิด-19 จำนวน 61,002 คน และกลุ่มที่ไม่ติดเชื้อจำนวน 91,878 คน โดยทำการสำรวจ ณ 6, 9, 12 เดือนหลังจากที่ทราบผลการตรวจ
พบว่า หลังจากติดเชื้อมาแล้ว 6-12 เดือน ผู้ที่ติดเชื้อโรคโควิด-19 ราวหนึ่งในสามจะมีปัญหา Long COVID โดยมีอาการผิดปกติต่างๆ ทั้งทางด้านร่างกาย อาทิ ปัญหาด้านความคิดความจำ ระบบประสาท ระบบกระดูกและกล้ามเนื้อ รวมถึงปัญหาทางจิตเวช เช่น เครียด ซึมเศร้า นอนไม่หลับ
ทั้งนี้มีถึง 53.1% ของคนที่เคยติดเชื้อ จะมีปัญหาด้านสมาธิ การนอนหลับ หรือการอ่อนเพลียอ่อนล้าง่าย ซึ่งมากกว่ากลุ่มที่ไม่เคยติดเชื้อถึง 5 เท่า
รายงานนี้ชี้ให้เห็นว่า ในระดับประเทศ ซึ่งมีจำนวนการติดเชื้อมาก ปัญหา Long COVID หรือ Post-acute symptoms นี้จะเป็นผลกระทบสำคัญที่จะเกิดขึ้นตามมาหลังจากการติดเชื้อ ทั้งต่อตัวคนที่เป็น และต่อประเทศ
หากจำกันได้ มีงานวิจัยก่อนหน้านี้จำนวนมากที่ชี้ให้เห็นผลกระทบของ Long COVID เช่น งานวิจัยในอเมริกาที่พิสูจน์ให้เห็นว่าการติดเชื้อโรคโควิด-19 ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคหัวใจและหลอดเลือด ที่สูงขึ้นหลายเท่าหลังติดเชื้อมา 12 เดือน
ดังนั้นไม่ติดเชื้อย่อมดีที่สุด
ใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น
หากไม่สบาย ควรหยุดเรียนหยุดงาน และแจ้งคนที่เกี่ยวข้องทั้งที่บ้านที่เรียนที่ทำงาน แล้วไปตรวจรักษาให้หายดีเสียก่อน
สำหรับประเทศไทย เรามีคนติดเชื้อไปแล้วจำนวนมาก ย้ำอีกครั้งว่าปัญหา Long COVID จะเป็นผลกระทบสำคัญที่จะตามมาได้ในอนาคตอันใกล้ ทั้งต่อคนที่เป็น ครอบครัว และสังคม
ขอให้ป้องกันตัวเองอย่างเคร่งครัด