เตือน! อย่าหลงผิดกับคำว่าโรคประจำถิ่นทั้งที่โควิดยังระบาดรุนแรง-ตายมาก

10 มี.ค. 2565 | 20:11 น.
อัปเดตล่าสุด :10 มี.ค. 2565 | 22:03 น.

เตือน อย่าหลงผิดกับคำว่าโรคประจำถิ่นทั้งที่โควิดยังระบาดรุนแรง และมีคนตายเป็นจำนวนมาก หมอธีระชี้ไม่ควรรีบตีตราหรือประกาศปักธงชัยชนะ โดยที่ไม่สอดคล้องกับความรู้ และสถานการณ์จริง

ประเทศไทยกำลังเดินหน้าเข้าสู่การประกาศให้ควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น  โดยคาดว่าจะอยู่ที่ประมาณวันที่ 1 ก.ค. ตามแผนบริหารจัดการโควิด-19 ใน 4 ระยะ ของคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ  

 

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

"Endemic delusion"

 

ความหลงผิดเกี่ยวกับโรคประจำถิ่น

 

คำนี้ได้ถูกหยิบยกมาใช้เปรียบเปรยมากขึ้น บ่อยขึ้น 

 

ยามที่เห็นฝ่ายนโยบายในบางประเทศที่เร่งรีบประกาศว่าประเทศฉันจะเป็นอิสระ 

 

อยู่กับโรค Covid-19 แบบโรคหวัดธรรมดา กระจอก ไม่น่ากลัว 

 

ทั้งๆ ที่สภาพจริง ยังระบาดรุนแรงต่อเนื่อง ติดกันมาก ตายกันมาก 

 

 

และยังทำนายการระบาดในอนาคตได้อย่างไม่ชัดเจน

 

ทั้งๆ ที่ความรู้การแพทย์ปัจจุบันมีออกมามากขึ้นแทบทุกวันทุกสัปดาห์ 

 

โดยชี้ให้เห็นถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นระยะยาวต่อร่างกายและจิตใจ 

 

หลังจากติดเชื้อโรคโควิด-19 ดังที่เรารู้จักกันในเรื่อง Long COVID

 

ความหลงผิดเกี่ยวกับโรคประจำถิ่น   

 

ทั้งๆ ที่งานวิจัยจากนานาประเทศชี้ให้เห็นว่าปัญหาความผิดปกติที่เกิดขึ้นระยะยาวนั้น มีหลากหลาย และอาจมีอาการหรืออาการแสดงมากถึง 55 อาการ 

 

กระทบหลายระบบในร่างกาย ทำให้ผิดปกติได้ทั้งสมอง/ระบบประสาท หัวใจและหลอดเลือด ทางเดินหายใจ ทางเดินอาหาร กล้ามเนื้อรวมถึงกระดูกและข้อ ต่อมไร้ท่อ 

 

รวมถึงปัญหาด้านจิตเวช โดยบั่นทอนสมรรถนะในการดำเนินชีวิตประจำวัน และการทำงาน

การรีบตีตราหรือประกาศปักธงชัยชนะ โดยที่ไม่สอดคล้องกับความรู้ และสถานการณ์จริงที่ยังควบคุมหรือจัดการการระบาดไม่ได้ ย่อมไม่ต่างอะไรกับการหลงผิด

 

และการหลงผิดนั้นจะมีโอกาสทำให้เกิดผลกระทบต่อทุกชีวิตในสังคมได้

 

การไม่ประมาทย่อมดีที่สุด