“โอมิครอนกี่วันตรวจเจอ” สัมผัสเสี่ยงสูง แต่ตรวจ ATK ไม่พบเชื้อ

31 มี.ค. 2565 | 17:05 น.
อัปเดตล่าสุด :31 มี.ค. 2565 | 17:41 น.

หลายคนสงสัยว่า ติดเชื้อโควิด “โอมิครอนกี่วันตรวจเจอ” ทั้งที่เพิ่งไปสัมผัสเสี่ยงสูงมา แต่ทำไมตรวจ ATK ไม่พบเชื้อ เช็ครายละเอียดที่นี่

"โอไมครอนกี่วันตรวจเจอ" เป็นคำถามที่หลายคนสงสัย ในขณะที่สถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว ทำให้ตัวเลขผู้ติดเชื้อพุ่งสูงขึ้น อาการของ "โอมิครอน" ไม่ได้รุนแรง

แต่ นายแพทย์มนูญ ลีเชวงวงศ์ หัวหน้าโรคระบบทางเดินหายใจ โรงพยาบาลวิชัยยุทธ ระบุว่า ต้องยอมรับเชื้อไวรัสโควิดโอมิครอน เป็นสายพันธุ์ที่เก่งจริงๆ สามารถหลบหลีกภูมิคุ้มกันที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจากเคยได้รับวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูงครบ 2 เข็ม แล้วตามด้วยเข็มกระตุ้น

 

หรือเคยติดเชื้อไวรัสโควิดสายพันธุ์อื่นก่อนหน้านี้ หรือเคยได้รับโมโนโคลนอลแอนติบอดี REGEN-COV มาก่อน ซึ่งสามารถจะเพิ่มภูมิต้านทานป้องกันการติดเชื้อเดลตาซ้ำอีก และอยู่ในร่างกายได้นานถึง 8 เดือน

จากคำถามข้างต้นว่า "โอมิครอนกี่วันตรวจเจอ" ทำไมสัมผัสเสี่ยงสูงมา แต่ตรวจ ATK แล้วไม่พบเชื้อ คำตอบก็คือ เป็นเรื่องของระยะฟักเชื้อ จึงต้องมาทำความเข้าใจ จะได้ป้องกันตัวเอง และคนรอบข้างได้ดียิ่งขึ้น

 

 ระยะฟักเชื้อ "โอมิครอน" ที่ต้องระวัง และช่วงตรวจ ATK ที่แม่นยำ

  • วันที่รับเชื้อ ส่วนใหญ่ตรวจ ATK จะยังไม่พบเชื้อ โดยระยะฟักเชื้อ ตั้งแต่ติดเชื้อจนถึงมีอาการ 5-14 วัน
  • วันเริ่มมีอาการ ระยะฟักเชื้อที่ต้องระวัง 3 วันก่อนแสดงอาการ ผู้ป่วยจะเริ่มแพร่เชื้อแม้ไม่มีอาการ เมื่อตรวจ ATK จะพบเชื้อ ซึ่งระยะตรวจ ATK ที่แม่นยำคือควรทำทันทีหลังมีอาการ ไม่เกิน 7 วัน

 

มีงานวิจัยระบุว่า "โอมิครอน" ล่าสุด มีระยะฟักตัวที่สั้น โดยช่วงฟักตัวคือ ระยะเวลาระหว่างที่คนติดเชื้อไวรัส และเริ่มแสดงอาการออกมา เชื้อกลายพันธุ์ก่อนหน้านี้ มักจะมีอาการภายใน 5-6 วัน หลังจากติดเชื้อ เช่น เดลตา คาดว่ามีระยะฟักตัวที่ประมาณ 4 วัน

 

ปัจจุบัน "โอมิครอน" อาการมักจะปรากฏภายใน 2-3 วัน หลังจากติดเชื้อ ผลการศึกษาเบื้องต้นจากผู้ติดเชื้อ "โอมิครอน" 6 รายในสหรัฐฯ เมื่อเดือนธันวาคม พบว่า ระยะฟักตัวเฉลี่ยอยู่ที่ 3 วัน เปรียบเทียบกับเชื้อกลายพันธุ์ตัวอื่นที่ประมาณ 5 วัน