โควิดวันนี้ เหมาะสมหรือไม่ที่จะลดวันกักตัว โดยที่ประเทศไทยกำลังจะมีมติให้ลดวันกักตัว หาก ศบค.ชุดใหญ่เห็นชอบ
น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า
ลดวันกักตัวกลุ่มผู้สัมผัสเสี่ยงสูงเหลือ 5 วัน จะมีผลกระทบอย่างไรบ้าง และควรประกาศใช้ช่วงใดจึงจะเหมาะสม
จากกรณีที่คณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ มีมติรับทราบและเห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการด้านวิชาการ
ให้ลดจำนวนวันกักตัวผู้สัมผัสเสี่ยงสูง จากกักตัว 7 วัน
ตามด้วยสังเกตอาการ 3 วัน (7+3) เป็นกักตัว 5 วันและสังเกตอาการ 5 วัน (5+5)
โดยจะต้องนำเสนอต่อที่ประชุมศบค.ชุดใหญ่ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธานต่อไปนั้น
มติดังกล่าวมีพื้นฐานมาจากข้อมูลทางวิชาการ และสถิติประกอบกัน ที่พบว่าผู้สัมผัสเสี่ยงสูง มักจะมีการติดเชื้อและอาจแพร่เชื้อได้มากในช่วง 5 วันแรก และค่อยลดลงอย่างชัดเจนหลังจากนั้น
ทำให้คณะกรรมการมีมติดังกล่าว ถือว่าเป็นมติที่สอดคล้องกับข้อมูลทางวิชาการ เพื่อปรับมาตรการให้เหมาะสม
แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากช่วงนี้เป็นเทศกาลสงกรานต์ ยังมีความเสี่ยงที่จำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้ป่วยจะขยับตัวเพิ่มขึ้นได้
จึงเห็นว่า ควรจะกักตัว 7 วัน และสังเกตอาการ 3 วันต่อไป
จนพ้นเทศกาลสงกรานต์ อย่างน้อย 2 สัปดาห์
หรือจนเห็นตัวเลขผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตเริ่มลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ก็จะเป็นช่วงเวลาที่มีความเหมาะสม
ทราบว่ามติดังกล่าว จะต้องเสนอศบค.ชุดใหญ่ พิจารณาให้ความเห็นชอบ ก่อนให้ประกาศใช้หลังเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ถูกต้อง
แต่อยากจะให้เลยเทศกาลสงกรานต์ไปให้มากพอคือ อย่างน้อย 2 สัปดาห์
หรือจนตัวเลขผู้ติดเชื้อ ผู้ป่วย และผู้เสียชีวิตลดลง อย่างมีนัยสำคัญเสียก่อน
เพราะมาตรการลดวันกักตัวดังกล่าว ถ้าประกาศใช้เร็วเกินไป อาจได้ไม่คุ้มเสีย ถ้ามีการติดเชื้อเพิ่มขึ้น