อาการโควิดที่พบมากกว่าไวรัสชนิดอื่นคืออะไร วัคซีนลดเชื้อได้ไหม อ่านเลย

20 เม.ย. 2565 | 03:16 น.
อัปเดตล่าสุด :20 เม.ย. 2565 | 10:16 น.

อาการโควิดที่พบมากกว่าไวรัสชนิดอื่นคืออะไร วัคซีนลดเชื้อได้ไหม อ่านเลยที่นี่มีคำตอบ หมอธีระเผยสถานการณ์ระบาดของไทย เมื่อวานมีจำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย

ร.ศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า 

 

20 เมษายน 2565 เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 564,918 คน ตายเพิ่ม 1,991 คน รวมแล้วติดไปรวม 505,726,683 คน เสียชีวิตรวม 6,227,080 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ เยอรมัน เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น และสหรัฐอเมริกา

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 15 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 80.15% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 73.12%

 

การติดเชื้อใหม่ในทวีปเอเชียนั้นคิดเป็น 37.36% ของทั้งโลก ส่วนจำนวนเสียชีวิตเพิ่มคิดเป็น 22.55% 
 

สถานการณ์ระบาดของไทย

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่ รวม ATK สูงเป็นอันดับ 4 ของโลก และอันดับ 2 ของเอเชีย

 

ในขณะที่จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 5 ของโลก

 

อาการโควิดที่พบมากกว่าไวรัสชนิดอื่นคืออะไร

 

ทั้งนี้จำนวนคนเสียชีวิตของไทยเมื่อวานนั้นคิดเป็น 28.73% ของการเสียชีวิตทั้งหมดที่รายงานของทวีปเอเชีย

 

อัพเดตงานวิจัย

 

1. อาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าหลังติดเชื้อโควิด-19 (Covid-19) พบบ่อยกว่าไวรัสชนิดอื่น

 

Khatib S และคณะจากสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลการศึกษาในวารสารการแพทย์สากล Irish Journal of Medical Science เดือนเมษายน 2565 นี้

 

โดยทำการประเมินผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 มานานเกินกว่า 4 สัปดาห์จำนวน 157 คน ตั้งแต่พฤษภาคม 2564 ถึงมกราคม 2565

 

พบว่าผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 จะมีปัญหาเรื่องอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้ามากถึง 43.3% 
 

ด้วยอัตราความชุกที่พบนี้ ถือว่าสูงกว่าไวรัสชนิดอื่นๆ ที่เคยมีการศึกษามาถึง  3.6 เท่า เช่น EBV, Coxiella burnetii (Q fever) และ Ross River virus ซึ่งพบปัญหาอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าราว 12%

 

ในขณะที่เคยมีการศึกษาในคนที่เคยติดเชื้อไวรัส Ebola ก็พบอาการอ่อนเพลีย/เหนื่อยล้าประมาณ 28% ซึ่งก็น้อยกว่าที่พบในโควิด-19

 

ทั้งนี้ งานวิจัยในช่วงที่ผ่านมาจากประเทศไอร์แลนด์ ก็เคยรายงานว่าพบความชุกของอาการนี้ในผู้ที่เคยติดเชื้อโควิด-19 ถึง 52.8% ซึ่งก็อยู่ในระดับเทียบเคียงกับงานวิจัยนี้จากอเมริกา

 

ดังนั้นปัญหา post-viral fatique หรืออ่อนเพลีย/เหนื่อยล้า หลังการติดเชื้อจึงมีแนวโน้มที่จะเป็นความผิดปกติที่พบบ่อยในกลุ่มผู้ที่เคยติดเชื้อโรคโควิด-19 และเป็นเรื่องหนึ่งที่เราน่าจะนำมาใช้ประเมินสถานะสุขภาพของตนเองได้ด้วย หากเคยติดเชื้อมาก่อน

 

 

2. ถ้าติดเชื้อ Omicron (โอมิครอน) ผู้ที่ฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีนล้วนมีระดับปริมาณไวรัสไม่แตกต่างกัน

 

Hirotsu Y และทีมงานจากประเทศญี่ปุ่น เผยแพร่ผลการศึกษาใน medRxiv เมื่อ 19 เมษายน 2565 ที่ผ่านมา

 

อาการโควิดที่พบมากกว่าไวรัสชนิดอื่นคืออะไร

 

ศึกษาในผู้ที่ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ Omicron จำนวน 611 คน (199 คนไม่ได้รับวัคซีน 370 คนได้รับไป 2 เข็ม และ 42 คนได้รับไป 3 เข็ม)

 

พบว่าทั้งสามกลุ่มนั้นมีปริมาณไวรัส (viral load) และค่า Cycle threshold (Ct values) ไม่แตกต่างกัน

 

งานวิจัยนี้สะท้อนให้เราเห็นว่า แม้การฉีดวัคซีนนั้นมีประโยชน์ในการลดความเสี่ยงต่อการป่วยรุนแรงและการเสียชีวิต แต่หากไม่ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ และเกิดการติดเชื้อขึ้นมา ปริมาณไวรัสก็อยู่ในระดับเทียบเท่ากันกับคนที่ไม่ได้ฉีดวัคซีน และมีโอกาสที่จะแพร่เชื้อให้กับคนใกล้ชิด และคนอื่นในสังคมได้

 

ด้วยสถานการณ์ระบาดของไทยยังเป็นไปอย่างต่อเนื่อง กระจายทั่ว จำนวนการติดเชื้อและจำนวนการเสียชีวิตในแต่ละวันก็ติด Top 5-10 ของโลก

 

การใส่หน้ากากเสมอ เว้นระยะห่างจากคนอื่น พบปะคนอื่นเท่าที่จำเป็น ใช้เวลาสั้นๆ เลี่ยงการกินดื่มหรือแชร์ของกินของใช้ร่วมกับผู้อื่น ถือว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการดำเนินชีวิตประจำวันในช่วงเวลานี้และในอนาคต

 

ปัญหา Long COVID จะพบมากขึ้น และบั่นทอนสมรรถนะการดำเนินชีวิตประจำวัน ความสัมพันธ์ และสมรรถนะการทำงาน รวมถึงเป็นภาระค่าใช้จ่ายทั้งต่อผู้ป่วย ครอบครัว และสังคมในระยะยาว

 

คนที่เคยติดเชื้อมาแล้ว ยังต้องป้องกันตัว เพราะจะติดเชื้อซ้ำ (reinfection) ได้ และควรประเมินสถานะสุขภาพของตนเองอย่างสม่ำเสมอ หากมีอาการผิดปกติต่างจากอดีต ควรปรึกษาแพทย์ เพื่อทำการดูแลรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะความเสี่ยงของ Long COVID อาจไม่ได้เกิดแบบปุ๊บปั๊บ แต่เป็นความเสี่ยงระยะยาว