“ยาเม็ดแพกซ์โลวิด” ถึงมือ กทม.แล้วพร้อมกระจายทำความรู้จักยารักษาโควิด 19

20 เม.ย. 2565 | 21:04 น.

“ยาเม็ดแพกซ์โลวิด” ถึงมือ กทม.แล้วพร้อมกระจายโรงพยาบาลในสังกัดทั้งหมด ทำความรู้จักยารักษาโควิด 19 คุณภาพและประสิทธิภาพ เช็คเลย

จากกรณีที่ กรุงเทพมหานคร ได้ออกมาเปิดเผยว่า สำนักการแพทย์ ของ กทม. เตรียมรับมอบยาแพกซ์โลวิด ที่ได้จัดสรรจากกระทรวงสาธารณสุข และพร้อมกระจายยาไปยังโรงพยาบาลในสังกัด กทม. เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและมีความเสี่ยงเกิดอาการรุนแรง เพื่อช่วยลดความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตหรือการรักษาตัวในโรงพยาบาล

 

ตามแนวทางที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำหนด ซึ่งในปัจจุบันมีการใช้ยาต้านไวรัสรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ได้แก่ ยาฟาวิพิราเวียร์ ยาเรมเดซิเวียร์ ยาโมลนูพิราเวียร์ และยาตัวใหม่ที่กำลังจะนำมาใช้ คือ ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ซึ่งเป็นยาต้านไวรัสชนิดเม็ด สำหรับผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดอาการรุนแรง สามารถลดความเสี่ยงการป่วยหนักจนต้องเข้าโรงพยาบาล และการเสียชีวิตของผู้ใหญ่ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงได้ถึง 88%

รู้จัก “ยาเม็ดแพกซ์โลวิด”

  • ยาเม็ดแพกซ์โลวิด (Paxlovid) เป็นยาจัดอยู่ในประเภท “โปรตีเอส อินฮิบิเตอร์” ที่มีคุณสมบัติย่อยสลายโปรตีนหนามของเชื้อไวรัสโควิด-19 หรืออธิบายแบบเข้าใจง่ายๆเมื่อเรารับประทาน แพกซ์โลวิด ตัวยาก็จะเข้าไปจัดการกัดกินขาเหนียวของเชื้อไวรัสให้ไม่สามารถยึดเกาะปอด จมูก และลำคอ จนแพร่พันธุ์ไม่ได้นั่นเอง

 

ประสิทธิภาพแพกซ์โลวิด

  • ข้อมูลวิจัยการทดลองของสถาบันต่างประเทศพบว่า ยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid) ช่วยลดความเสี่ยงการเสียชีวิตลง รวมถึงลดจำนวนผู้ป่วยสีแดงที่ต้องรักษาในโรงพยาบาลได้ถึง 88% หากได้รับยาภายใน 5 วันนับตั้งแต่เริ่มมีอาการ 

 

ใครบ้างเหมาะกับยาแพกซ์โลวิด (Paxlovid)

  • ผู้ที่อายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป
  • ผู้ที่มีภาวะอ้วน
  • ผู้ป่วยเบาหวาน
  • ผู้ป่วยโรคหัวใจและหลอดเลือด
  • ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรัง
  • ผู้ที่มีภูมิต้านทานร่างกายต่ำ
  • ผู้ป่วยโรคทางเดินหายใจ
  • ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดสมอง
  • ผู้ป่วยโรคมะเร็ง
  • และผู้ที่ไม่ได้รับวัคซีน หรือได้รับเพียง 1 เข็ม

 

 

“ยาเม็ดแพกซ์โลวิด” (Paxlovid)

ก่อนหน้านี้ น.พ.ธีระ วรธนารัตน์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กระบุว่า Paxlovid ช่วยลดโอกาสป่วยรุนแรงและเสียชีวิตได้ถึงเกือบ 90% ในผู้ติดเชื้อที่มีอาการน้อยหรือปานกลาง เริ่มให้ภายใน 3 วันหลังจากมีอาการ ใช้ยาวันละ 2 ครั้ง เป็นเวลา 5 วัน ระบบบริการดูแลรักษาใดๆ ควรพิจารณานำยาที่ผ่านการศึกษาวิจัยทางการแพทย์ตามขั้นตอนมาตรฐานสากล และเป็นที่ยอมรับ มาให้แก่ประชาชน.