ดีอีเอส เตือนอย่าเชื่อข่าวปลอมอ้างชื่อ ก.ล.ต. ชวนลงทุน

23 เม.ย. 2565 | 03:30 น.
อัปเดตล่าสุด :23 เม.ย. 2565 | 10:41 น.

โฆษกดีอีเอสฝ่ายการเมือง สรุปสถานการณ์ข่าวปลอมรายสัปดาห์ พบมีการอ้างชื่อ ก.ล.ต. รับรองโฆษณาชวนลงทุนบนเฟซบุ๊ก และแบงก์ชาติ เปิดบริการสินเชื่อเงินด่วน จูงใจให้คนสนใจจำนวนมาก เตือนประชาชนเสพข่าวอย่างรอบคอบ ควรเช็คให้ชัวร์ ก่อนเชื่อและแชร์

นางสาวนพวรรณ หัวใจมั่น โฆษกกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมฝ่ายการเมือง (ดีอีเอส) กล่าวว่า สรุปผลการมอนิเตอร์ และรับแจ้งข่าวปลอมประจำสัปดาห์ ระหว่างวันที่ 15-21 เม.ย. 65 โดยศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม มีข้อความที่เข้ามาทั้งสิ้น 11,726,786 ข้อความ จากการคัดกรองมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) จำนวน 263 ข้อความ รวมเรื่องที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ 126 เรื่อง 


ทั้งนี้ จากการประสานงานเพื่อตรวจสอบกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้รับผลการตรวจสอบกลับมาแล้ว 60 เรื่อง โดยพบว่าในจำนวนนี้เป็นข่าวปลอม/บิดเบือน จำนวน 20 เรื่อง ครอบคลุมประเด็นข่าวทั้งสุขภาพ โควิด-19 ข่าวสารราชการและข่าวเชิงนโยบาย รวมทั้งข่าวปลอมเรื่องการให้สินเชื่อและชักชวนลงทุน ซึ่งสัปดาห์ล่าสุดนี้ พบชื่อหน่วยงานที่น่าเชื่อถือถูกนำมาอ้างถึงเพิ่มเติม ได้แก่ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) และธนาคารแห่งประเทศไทย ส่งผลให้มีคนหลงเชื่อ และติดอยู่ใน 10 อันดับข่าวที่ได้รับความสนใจมากสุด

สำหรับข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุด 10 อันดับ ได้แก่ อันดับ 1 ป้องกันโควิด 19 ด้วยผ้าอนามัยประกบกับหน้ากาก อันดับ 2 รัฐบาลเก็บภาษี 30% สำหรับบุคคลที่ไม่มีสามี อันดับ 3 กินฟ้าทะลายโจร 3 แคปซูล ก่อนออกจากบ้าน สามารถป้องกันเชื้อโควิด 19 ได้ 12 ชม. อันดับ 4 กรุงไทยเปิดให้ทุกคนยืมเงิน 10,000 บาท สมัครผ่านบัตร ATM ที่ตู้ทุกแห่ง อันดับ 5 แพทย์ศิริราชแนะวิธีรักษาโควิด 19 ด้วยการกินกระเทียม


อันดับ 6 โฆษณาบน Facebook เชิญชวนลงทุนผลตอบแทนสูง โดยได้รับการรับรองจากสำนักงาน ก.ล.ต. อันดับ 7 ดื่มน้ำยางจากกล้วย รักษาโรคกระเพาะและกรดไหลย้อนได้ อันดับ 8 ธปท. ให้บริการสินเชื่อเงินด่วน Epay Cash แบบไม่ต้องมีคนค้ำ อันดับ 9 รัฐบาลเก็บภาษีรถกระบะ 2 ประตู หรือกระบะแค๊ป เท่า 4 ประตู และอันดับ 10 กล้วยสุกช่วยรักษาโรคไมเกรนได้

นางสาวนพวรรณ กล่าวว่า ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนช่วยกันทำงานแก้ไขปัญหาข่าวปลอม และเมื่อประชาชนได้รับข่าวสารข้อมูลผ่านโซเชียล ควรตรวจสอบให้รอบด้าน เลือกเชื่อ เลือกแชร์ และสามารถติดตามและแจ้งเบาะแสข่าวปลอม ได้ผ่านช่องทางต่างๆ ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ดังนี้ ไลน์ @antifakenewscenter  เว็บไซต์ https://www.antifakenewscenter.com/ ทวิตเตอร์ https://twitter.com/AFNCThailand และช่องทางโทรศัพท์โทรสายด่วน GCC 1111 ต่อ 87