จากกรณีมีข่าวประเทศจีนพบเด็กชาย 4 ขวบ ติดเชื้อไข้หวัดนก สายพันธุ์ H3N8 เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ อธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรค ได้มอบหมายให้กองโรคติดต่อทั่วไป ดำเนินการตรวจสอบและติดตามสถานการณ์ โดยพบว่า บ้านผู้ป่วยได้เลี้ยงไก่ และนกอีกา อีกทั้งมีเป็ดป่าอยู่รอบ ๆ บ้าน โดยศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของจีนได้ดำเนินการสังเกตอาการ และสุ่มตัวอย่างจากการสัมผัสใกล้ชิดผู้ป่วย ไม่พบความผิดปกติใด ๆ
โรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H3N8 เคยมีการตรวจพบเชื้อในม้า สุนัข นก และแมวน้ำ จากทั่วโลก แต่ยังไม่มีรายงานผู้ป่วย H3N8 ในมนุษย์มาก่อน ทั้งนี้ คณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติกล่าวว่า จากการประเมินเบื้องต้นระบุว่า เชื้อดังกล่าวมีความสามารถในการแพร่เชื้อสู่มนุษย์ และความเสี่ยงของการแพร่ระบาดในวงกว้างอยู่ในระดับต่ำ สำหรับผู้ป่วยเด็กที่พบในประเทศจีนครั้งนี้ นับเป็นรายแรกที่มีการแพร่ระบาดจากสัตว์มาสู่คน” นายแพทย์โอภาส กล่าว
สถานการณ์โรคไข้หวัดนกในคนทั่วโลก ตั้งแต่เดือนมกราคม 2546 - 13 มกราคม 2565 มีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ใน 18 ประเทศ จำนวน 863 ราย เสียชีวิต 455 ราย คิดเป็นร้อยละ 53 ได้รับรายงานพบผู้ติดเชื้อรายสุดท้าย เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 จากประเทศอินเดีย
สำหรับสถานการณ์โรคไข้หวัดนกในประเทศไทย ข้อมูลจากกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค มีรายงานผู้ติดเชื้อระหว่างปี 2547-2549 พบผู้ป่วย 25 ราย เสียชีวิต 17 ราย หลังจากนั้นเป็นต้นมา ไม่พบรายงานผู้ป่วยยืนยันโรคไข้หวัดนกตั้งแต่ปี 2549 จนถึงปัจจุบัน และในปีนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 29 เม.ย. 2565) ข้อมูลจากโปรแกรมตรวจสอบการระบาด ของกองระบาดวิทยา ไม่มีรายงานผู้ป่วยสงสัยเข้าเกณฑ์สอบสวนโรค และข้อมูลจากระบบสารสนเทศเพื่อการเฝ้าระวังโรคไข้หวัดนก ปี 2565 สำนักควบคุม ป้องกัน และบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ ไม่มีรายงานสัตว์ปีกป่วยตายผิดปกติจากโรคไข้หวัดนก
นายแพทย์โอภาส กล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประเมินความเสี่ยงของโรคไข้หวัดนกในประเทศไทยอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกในประเทศได้ เนื่องจากยังคงพบการระบาดของโรคนี้ในสัตว์ในประเทศเพื่อนบ้าน และมีการเคลื่อนย้ายเข้าสู่ประเทศ จึงมีโอกาสที่จะแพร่ระบาดมาสู่สัตว์ปีกที่มีการเลี้ยงในบริเวณพื้นที่จังหวัดชายแดนของประเทศไทย
ทั้งนี้ ขอแนะนำให้ประชาชนรับประทานเนื้อไก่และไข่ที่ปรุงสุก หลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ปีกที่มีอาการป่วย หรือตาย หากไปที่ตลาดค้าสัตว์ปีกมีชีวิต ควรหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ รวมทั้งพื้นผิวที่สัตว์เหล่านั้นอยู่ ห้ามนำซากสัตว์ปีกที่ป่วยตายไปรับประทานหรือให้สัตว์อื่นกิน และต้องรีบแจ้งเจ้าหน้าที่ปศุสัตว์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุข
หากต้องสัมผัสกับสัตว์ปีกในระยะที่มีการระบาดในพื้นที่ ให้สวมหน้ากากอนามัย สวมถุงมือ ล้างมือบ่อยๆ และทุกครั้งหลังการสัมผัสสัตว์ปีกและสารคัดหลั่งของสัตว์ปีก ด้วยน้ำสบู่ สำหรับการเดินทางระหว่างประเทศยังสามารถเดินทางได้ตามปกติ ไม่จำเป็นต้องจำกัดการเดินทาง ผู้ที่จะเดินทางไปต่างประเทศ ให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสัตว์ปีก รวมทั้งนกในธรรมชาติ หรือหากมีอาการเป็นไข้ ไอ ปวดเมื่อยตามร่างกาย และเคยสัมผัสสัตว์ปีก ให้รีบไปพบแพทย์พร้อมแจ้งประวัติสัมผัสโรค หรือแจ้งประวัติการเดินทาง สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมควบคุมโรค โทร 1422