8 พ.ค.2565 - ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ล่าสุดมีมติเห็นชอบ บรรจุ “ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่าย” ให้เป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สำหรับคนไทยทุกคน โดยมีผลตั้งแต่ 2 พ.ค. 2565 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ สิทธิประโยชน์ผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผนรองซับการขับถ่าย เป็นการดำเนินการเพื่อดูแลผู้ที่อยู่ในภาวะติดบ้าน ติดเตียง กลุ่มที่มีปัญหาการกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ และมีค่าคะแนนระดับความสามารถในการดำเนินกิจวัตรประจำวัน ตามดัชนี ADL ระหว่าง 0-6 หรือตามแผนดูแลรายบุคคล (Care plan) ซึ่งมีจำนวน 53,356 ราย โดยสนับสนุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับขับถ่าย จำนวน 3 ชิ้นต่อคนต่อวัน ตามคำแนะนำของกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข
สำหรับในส่วนของงบประมาณรองรับนั้นให้เป็นการดำเนินการผ่าน “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” (กปท.) ในการจัดสรรค่าใช้จ่าย ที่เป็นไปตามความเห็นของสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ โดยให้หน่วยบริการ ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดทำโครงการเพื่อขอรับสนับสนุนงบประมาณจาก กปท. ตามกลุ่มเป้าหมายที่มีแผนดูแลรายบุคคล เป็นการรับงบประมาณเพิ่มเติมจากอัตราเดิมที่ได้รับ
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข ในฐานประธานคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เปิดเผยว่า สำหรับสิทธิประโยชน์นี้กำหนดให้เริ่มดำเนินการในปีงบประมาณ 2565 จากจำนวนกลุ่มเป้าหมายข้างต้น เมื่อคำนวณกับต้นทุนผ้าอ้อมผู้ใหญ่ แผ่นรองซับการขับถ่าย อยู่ที่ 9.5 บาทต่อชิ้น โดยใช้จำนวน 3 ชิ้นต่อคนต่อวัน และจำนวนวัน 153 วัน ของปีงบประมาณที่เหลืออยู่ คาดว่าจะใช้งบประมาณทั้งสิ้น จำนวน 232.66 ล้านบาท
“ด้วยสิทธิประโยชน์นี้จะช่วยให้ผู้ที่อยู่ในภาวะติดบ้าน ติดเตียง กลุ่มที่มีปัญหาการกลั้นอุจจาระปัสสาวะไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุ ผู้ป่วยกลุ่มต่างๆ ที่มีปัญหาการขับถ่าย โดยไม่จำกัดอายุ นอกจากมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแล้ว ยังเป็นการลดภาระค่าใช่จ่ายครัวเรือนในด้านสุขภาพได้ ซึ่งจากมติที่ประชุมในวันนี้ ยังได้ให้เพิ่มรูปแบบผลิตภัณฑ์ให้หลากหลาย เช่น แผ่นรองซับ ผ้าอ้อมทางเลือก เป็นต้น และขอให้เน้นผลิตภัณฑ์ที่ผลิตในประเทศที่มีคุณภาพและมาตรฐาน”
ทั้งนี้ รายละเอียดเพิ่มเติม สามารถสอบถามเพิ่มเติมการใช้สิทธิบัตรทอง ได้ที่ สายด่วน สปสช. 1330 หรือช่องทางระบบออนไลน์ ทั้งไลน์ สปสช. (ไลน์ไอดี @nhso) หรือคลิก https://lin.ee/zzn3pU6 และ Facebook : สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ