วันที่ 23 พ.ค. 2565 นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผู้อำนวยการกองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค ให้สัมภาษณ์ถึงการเฝ้าระวัง โรคฝีดาษลิง (monkeypox) ว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุขดำเนินการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (EOC) กรณีโรคฝีดาษลิง เพื่อเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อจากคนสู่คน
ไทยต้องรีบยกระดับศูนย์ขึ้นมา เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้ทัน เพราะโรคนี้ยังไม่มียาเฉพาะรักษา ต้องรักษาประคับประคอง แม้ว่าในประเทศยังไม่มีผู้ติดเชื้อนี้และก็ไม่เคยเจอโรคนี้มาก่อน รวมถึง การจัดตั้งศูนย์ฯ เป็นระดับกรมเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศก่อน ว่าแต่ละประเทศมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม ที่พอจะบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศนั้นๆ ที่กำลังมีการระบาด มีการแพร่ระบาดถึงระดับไหน ซึ่งข้อมูลคงจะทยอยเข้ามา
การเฝ้าระวังโรคฝีดาษลิงในประเทศไทย ได้แก่
1.คนที่เดินทางเข้าประเทศ ซึ่งที่ด่านสนามบินอาจจะไม่เห็นอาการ เพราะว่าตอนเริ่มต้นอาการอาจจะน้อยหรือไม่มีอาการ แต่เมื่อมาถึงประเทศไทย เกิดตุ่มหนอง ตุ่มน้ำ จึงเน้นเฝ้าระวังในประเทศที่มีความเสี่ยงสูง คือ ประเทศแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก และประเทศในยุโรปที่มีการแพร่ระบาดภายในประเทศแล้ว คือ อังกฤษ สเปน โปรตุเกส โดยที่สนามบินจะมีการคัดกรองอาการในผู้เดินทางมากับเที่ยวบินจากประเทศเหล่านี้ ดูว่ามีแผลอะไรหรือไม่ แบบเดินผ่าน
รวมทั้งแจกบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) เป็นคิวอาร์โค้ดให้สแกนทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าว ซึ่งหลักๆ จะระบุว่าหากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่มให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ในรพ.ที่ใกล้ที่สุด รวมถึง แจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย
2.เฝ้าระวังที่สถานพยาบาล โดยหากพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัย คือมีอาการเข้าได้กับโรคและมีประวัติเดินทางจากประเทศเสี่ยงที่กำลังมีโรคนี้ระบาดข้างต้น ให้สถานพยาบาลเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจหาเชื้อ ซึ่งประเทศไทยสามารถตรวจเชื้อนี้ได้ แต่ยังทำได้ที่ส่วนกลางคือกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรายงานเข้าระบบการเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ติดเชื้อเข้าในประเทศไทย อาจจะต้องมีกระจายให้ศูนย์ในต่างจังหวัดช่วยตรวจ
5 วิธีป้องกันโรคฝีดาษลิง (Monkeypox)