ข่าวดี! ไทยพัฒนาชุดตรวจหาไวรัสฝีดาษลิงได้แล้ว คาดอีก 2 สัปดาห์ได้ใช้

25 พ.ค. 2565 | 22:11 น.
อัปเดตล่าสุด :26 พ.ค. 2565 | 00:24 น.

ข่าวดี ไทยพัฒนาชุดตรวจหาไวรัสฝีดาษลิงได้แล้ว คาดอีก 2 สัปดาห์ได้ใช้ หลังเกิดโรคระบาดย่อยของฝีดาษลิงใน 22 ประเทศ ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย ติดเชื้อแล้วกว่า 300 คน

โรคฝีดาษลิง กำลังได้รับความสนใจเป็นอย่างมากจากประชาชนทั่วโลก ทั้งเรื่องของสาเหตุในการเกิดโรค และวัคซีนในการป้องกัน

 

นอกจากนี้ ในปัจจุบันยังมีการคำนึงถึงวิธีการตรวจหาเชื้อ  เพื่อป้องกันการแพร่กระจายด้วย

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

ข่าวดี !! ไทยสามารถพัฒนาชุดตรวจหาไวรัสฝีดาษลิงได้เอง คาดว่าอีกสองสัปดาห์จะสามารถใช้งานได้

 

จากกรณีเกิดโรคระบาดย่อย (Outbreak) ของฝีดาษลิงใน 22 ประเทศ ทั้งในยุโรป สหรัฐอเมริกา และออสเตรเลีย พบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 300 คน

 

ทำให้หลายฝ่ายเกิดความกังวลว่า อาจจะมีการแพร่ระบาดมากขึ้นจนเป็นการระบาดใหญ่ทำนองเดียวกับ โควิด-19 (Covid-19) หรือไม่ เพราะในขณะนี้เอง โควิด-19 ก็ยังมีการระบาดอยู่เกือบทุกประเทศในโลก

ประเทศไทยได้มีการเตรียมการที่จะรับมือกับสถานการณ์ฝีดาษลิงที่ถือว่าเหมาะสมและรวดเร็วทันต่อสถานการณ์ได้แก่

 

  • จัดตั้งศูนย์เฉพาะกิจเพื่อรับมือกับฝีดาษลิงแล้ว

 

  • ดำเนินการคัดกรองผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศที่ผ่านเข้ามาทางสนามบิน โดยเน้นไปที่ประเทศมีผู้ติดเชื้อสูง เช่น โปรตุเกสและสเปนเป็นต้น

 

  • เร่งพัฒนาชุดตรวจหาไวรัสฝีดาษลิง เพื่อใช้งานภายในประเทศ

 

ข่าวดี ไทยพัฒนาชุดตรวจหาไวรัสฝีดาษลิงได้แล้ว

 

ในประเด็นชุดตรวจหาไวรัสก่อโรคฝีดาษลิง ซึ่งดำเนินการโดยศูนย์จีโนมทางการแพทย์ มีรายละเอียดดังนี้

 

  • ทางศูนย์ได้พัฒนาชุดตรวจหาไวรัสขึ้นใช้เอง เป็นแบบที่สามารถคัดกรองและทราบผลในเวลา 48 ชั่วโมง ใช้เวลาอีกประมาณ 2 สัปดาห์ก็สามารถนำมาใช้งานได้

 

  • เป็นงานวิจัยและพัฒนาเพื่อใช้ตรวจในสถานการณ์ชั่วคราว ก่อนที่จะมีชุดตรวจฝีดาษลิงที่ผ่านอย.ในอนาคต

 

  • ชุดตรวจดังกล่าว เป็นการตรวจหามากถึง 40 ตำแหน่ง มากกว่าการตรวจพีซีอาร์ของโรคโควิด ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มความแม่นยำและลดการมีผลบวกลวงและผลลบลวง

เป็นสิ่งที่น่าชื่นชมและต้องขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ได้เร่งพัฒนาชุดตรวจดังกล่าวขึ้น ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการควบคุมการระบาดฝีดาษลิงในประเทศไทยได้เป็นอย่างดี

 

สำหรับข้อมูลรายละเอียดเกี่ยวกับฝีดาษลิงเพิ่มเติม ได้แก่

 

  • ไวรัสก่อโรคฝีดาษลิงที่ระบาดครั้งนี้ มีขนาดใหญ่กว่าไวรัสก่อโรคโควิดประมาณ 6 เท่าตัว คือ สารพันธุกรรมยาว 196,858 ตำแหน่ง ในขณะที่ โควิด-19 มีความยาวของสารพันธุกรรมประมาณ 30,000 ตำแหน่ง

 

  • ไวรัสฝีดาษลิงมี 2 สายพันธุ์ย่อยคือ

 

  • ฝีดาษลิงที่ระบาดในครั้งนี้ พบว่าเป็นสายพันธุ์แอฟริกาตะวันตก จึงมีความรุนแรงน้อยกว่าอีกสายพันธุ์

 

  • วัคซีนป้องกันฝีดาษเดิมที่เรียกว่าการปลูกฝีนั้น มีระดับภูมิคุ้มกันสูงต่อเนื่องแม้ผ่านไปหลาย 10 ปี

 

  • วัคซีนป้องกันฝีดาษชนิดใหม่ซึ่งได้ผลดีกว่าเดิมสองเท่า เป็นของบริษัทเดนมาร์ก และได้รับการรับรองจากอย.สหรัฐอเมริกาแล้ว