ระบบการเรียบแบบ Pre-degree หรือ การเรียนล่วงหน้า ไม่ใช่เรื่องใหม่ของระบบการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยของไทย ข้อดีของระบบนี้คือเป็นการเปิดโอกาสให้กับผู้ที่เรียนในระดับมัธยมศึกษา ปวช. ปวส. และ กศน. สามารถจบการศึกษาหรือคว้าปริญญาตรีได้เร็วขึ้น จากการสะสมหน่วยกิตในสาขาวิชาต่าง ๆ ตามหลักสูตรที่สนใจ เมื่อเรียนจบแล้วสามารถเทียบโอน หรือสามารถเรียนเพื่อเพิ่มทักษะความรู้ของตนเองได้
วันนี้ ฐานเศรษฐกิจ พาไปทบทวนทำความรู้จักกับการเรียนแบบ Pre-degree กันว่า คืออะไร และหากสนใจมีวิธีการสมัครได้อย่างไรกันบ้าง ไปหาคำตอบร่วมกัน
พรีดีกรี (Pre-degree) คืออะไร
พรีดีกรี (Pre-degree) เป็นการเรียนเพื่อสะสมหน่วยกิตในระดับปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยรามคำแหงล่วงหน้า โดยอนุญาตให้ผู้ที่มีวุฒิการศึกษาระดับม.ต้น(วุฒิ จบ ม.3 หรือ กศน.จบ ม.3) เป็นต้นไปมาสมัครเป็นนักศึกษาระดับพรีดีกรีได้ โดยเลือกลงทะเบียนเรียนวิชาใด ๆ ก็ได้ของคณะที่สนใจได้เลย
การเรียน Pre-degree เป็นการเรียนปริญญาตรีแบบล่วงหน้าโดยใช้วุฒิการศึกษาชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 และจะต้องกำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.ปลาย ปวช. ปวส. หรือ กศน.
หากผู้ที่เรียนจบในระดับชั้นมัธยมศึกษาชั้นปีที่ 6 ก็จะสามารถเทียบโอนหน่วยกิตที่สะสมเอาไว้ไปเรียนในภาคปกติของมหาวิทยาลัยได้
ปัจจุบันมีมหาวิทยาลัยหลายแห่งที่เปิดให้เรียนระบบนี้ อาทิ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ม.สุโขทัยธรรมาธิราช ม.เชียงใหม่ และ ม.รามคำแหง ซึ่งแต่ละแห่งก็จะแตกต่างกันไป
ยกตัวอย่างเช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง หลักสูตรที่เปิดสอนในระบบ Pre-degree อาทิ คณะรัฐศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ คณะพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ คณะสื่อสารมวลชน คณะบริหารธุรกิจ คณะมนุษยศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ และคณะวิทยาศาสตร์ เป็นต้น
เอกสารที่ต้องใช้สำหรับการสมัคร
พรีดีกรี เหมาะกับใคร
พรีดีกรี เหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่กำลังเรียนอยู่ ม.ปลาย (หรือเทียบเท่า) รวมถึงผู้ที่กำลังเรียนระดับ ปวช. ปวส. รวมถึง กศน. ที่ต้องการสะสมหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยเป้าหมายที่เปิดให้สามารถสะสมหน่วยกิตจากระบบนี้เพื่อจะได้จบปริญญาตรีของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ได้เร็วขึ้น
ทั้งนี้ แต่ละมหาวิทยาลัยก็จะมีช่องทางการสมัครและเอกสารที่ต้องใช้ซึ่งอาจแตกต่างกันไป ซึ่งสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดหรือเข้าไปดูรายละเอียดของมหาวิทยาลัยนั้น ๆ ได้