แมวแพร่เชื้อโควิด-19 สู่คนได้อย่างไร อันตรายแค่ไหน ป้องกันยังไง เช็คเลย

21 มิ.ย. 2565 | 02:33 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2565 | 09:33 น.

แมวแพร่เชื้อโควิด-19 สู่คนได้อย่างไร อันตรายแค่ไหน ป้องกันยังไง เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หลังสัตวแพทย์ไทยเป็นรายแรกของโลกที่ได้รับเชื้อ

แมวแพร่เชื้อโควิด-19 สู่คนอย่างไรกำลังเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก หลังจากที่ประเทศไทยเป็นที่แรกในโลกที่เกิดเหตุดังกล่าวขึ้น 

 

น.พ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ (หมอเฉลิมชัย) รองประธานกรรมาธิการการสาธารณสุข วุฒิสภา โพสต์ blockdit ส่วนตัว "ร้อยแปดพันเก้ากับหมอเฉลิมชัย" โดยมีข้อความว่า

 

รายงานเคสแรกของโลก สัตวแพทย์ไทยติดโควิดจากแมว

 

ในช่วงที่โควิดระบาดทั่วโลกกว่าสองปีที่ผ่านมา มีข่าวและข้อมูลเรื่องสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมติดโควิด เช่น แมว สุนัข เสือ สิงโต หรือตัวมิ้งค์
ในยุโรปเคยมีข่าวใหญ่ของมิ้งค์ที่ติดโควิด แล้วต้องฆ่านับล้านตัวมาแล้ว

 

แต่ยังไม่มีข้อมูลทางวิชาการอย่างชัดเจนว่า คนสามารถติดโควิดจากสัตว์เลี้ยงได้

จนกระทั่งในเดือนนี้ วารสารวิชาการของ CDC ( Emerging Infectious Disease ) ได้รายงานเคสแรก ที่คนติดโควิดจากแมว ซึ่งเป็นกรณีในประเทศไทย ดังข้อมูลรายละเอียดคือ

 

4 สิงหาคม 2564 
คุณพ่อวัย 64 และลูกวัย 32 ติดโควิดที่กรุงเทพฯ

 

8 สิงหาคม 2564 เดินทางโดยรถพยาบาลไปรักษาตัวที่สงขลา พร้อมกับแมวที่เลี้ยงไว้ (เข้ารับการรักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน)

 

10 สิงหาคม 2564 แมวเริ่มมีอาการได้ตรวจกับสัตวแพทย์หญิงวัย 32 ปี ซึ่งใส่หน้ากากเอ็น 95 ใส่ถุงมือ แต่ไม่ได้ใส่เฟซชิลด์ และไม่ได้ใส่แว่นตา ในระหว่างที่ตรวจแยงจมูกแมวซึ่งให้ยานอนหลับ แมวก็ได้จามใส่หน้าสัตวแพทย์และผู้ช่วยอีกสองคน

 

แมวแพร่เชื้อโควิด-19 สู่คนได้อย่างไร อันตรายแค่ไหน

 

13 สิงหาคม 2564 สัตวแพทย์หญิงเริ่มมีอาการน้ำมูกและไอแบบมีเสมหะ

 

15 สิงหาคม 2564 ผลการตรวจพีซีอาร์ของแมวออกมาเป็นบวก จึงได้ตรวจพีซีอาร์ของสัตวแพทย์และผู้ช่วยด้วย พบว่าสัตวแพทย์เป็นบวกเช่นกัน แต่ผู้ช่วยเป็นลบ

 

ในกรณีที่จะสรุปว่าสัตวแพทย์หญิงติดโควิดจากแมว จำเป็นจะต้องมีหลักฐานยืนยันที่มากพอ เพราะอาจจะเกิดจากติดโควิดจากกรณีอื่นๆได้

แต่ในเคสนี้ มีหลักฐานยืนยันเชื่อได้ว่าติดจากแมวคือ

 

  • การตรวจรหัสพันธุกรรมหรือจีโนม (Genome) ของเชื้อในแมวและสัตวแพทย์ พบเป็นตัวเดียวกันคือเป็นไวรัสเดลต้า (B.1.167.2)
  • การตรวจสารพันธุกรรมระหว่างแมวกับเจ้าของ พบว่าเป็นไวรัสเดียวกัน
  • สัตวแพทย์ท่านดังกล่าวไม่ได้พบใกล้ชิดกับเจ้าของแมวแต่อย่างใด
  • สัตวแพทย์ไม่ได้ใกล้ชิดสัมผัสกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ
  • ผู้ที่ติดโควิดในช่วงเวลาเดียวกันที่สงขลา เป็นรหัสพันธุกรรมที่แตกต่างกับสัตวแพทย์หญิงและแมว

 

จึงสามารถสรุปได้ว่า

 

ในกรณีนี้ สัตวแพทย์หญิงติดโควิดจากแมวที่ตนเองตรวจ และนับเป็นเคสแรกของโลก ที่มีการสรุปจากข้อมูลทางวิชาการและผลทางห้องปฏิบัติการที่ชัดเจน

 

อย่างไรก็ตาม สัตว์เลี้ยงที่ติดโควิดมักจะมีอาการน้อยและมีระยะฟักตัวหรือการแพร่เชื้อสั้น โอกาสที่จะแพร่เชื้อเข้าสู่เจ้าของหรือมนุษย์จึงมีค่อนข้างน้อย

 

และได้มีคำแนะนำว่าสัตวแพทย์ที่จะตรวจสัตว์ที่เสี่ยงต่อโควิด นอกจากจะใส่หน้ากากพร้อมเฟซชิลด์แล้ว ควรจะใส่แว่นตาป้องกันด้วย

 

ผู้ที่มีสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะแมวและสุนัข ที่มีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมาก จำเป็นจะต้องดูแลสัตว์เลี้ยงให้ดี

 

และหมั่นสังเกตอาการ ถ้าพบอาการน่าสงสัย ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาโควิด

 

และควรระมัดระวัง ไม่สัมผัสสิ่งคัดหลั่งของสัตว์เลี้ยงโดยตรง