กทม.จ่อเปิด OPEN DATA แจ้งพิกัด PM2.5 พร้อมเดินหน้า"นักสืบฝุ่น"

21 มิ.ย. 2565 | 08:37 น.
อัปเดตล่าสุด :21 มิ.ย. 2565 | 15:52 น.

กทม.เตรียมเปิด OPEN DATA แจ้งพิกัด PM2.5 พร้อมเดินหน้าโครงการ "นักสืบฝุ่น" ตั้งเป้าแก้ปัญหาฝุ่นในกรุงเทพฯ ได้

วันที่ 21 มิ.ย. 65 นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร(กทม.) ประชุมหารือความร่วมมือเกี่ยวกับโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) โดยมี นายขจิต ชัชวานิชย์ ปลัดกรุงเทพมหานคร นายเฉลิมพล โชตินุชิต รองปลัดกรุงเทพมหานคร นายวิรัตน์ มนัสสนิทวงศ์ ผู้อำนวยการสำนักสิ่งแวดล้อม

 

ดร.สุมิท แช่มประสิทธิ์ ประธานกรรมการมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย นายชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 

 

สำหรับโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง) เป็นโครงการของมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก สสส.

 

โครงการนี้ทีมมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ไม่ได้เป็นผู้ดำเนินการ (Implementer) ที่จะทำกิจกรรมลดปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยตรง แต่เป็นทีมผู้ออกแบบและจัดกระบวนการ(Facilitator) ในการจัดกระบวนการให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มาร่วมกันสร้างโครงการขับเคลื่อนเพื่อแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 วัตถุประสงค์โครงการ มีดังนี้ 

นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม.

1.สร้างความร่วมมือและการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งกลุ่มเจ้าภาพหลัก และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ภาครัฐ (หน่วยงานเจ้าของเรื่องและส่วนที่เกี่ยวข้อง) ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน ภาควิชาการ สื่อมวลชน และเยาวชน 

 

2.ให้มีเป้าหมายการทำงานร่วมกันในการแก้ปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อให้เกิดจุดคานวัดในการดำเนินงานที่สามารถเปลี่ยนหรือพลิกสถานการณ์ของปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อนำไปสู่การลดปัจจัยเสี่ยงและผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชน 

 

3.สร้างแพลตฟอร์มการสื่อสารสาธารณะ เพิ่มการตระหนักรู้ถึงผลกระทบต่อสุขภาพ สร้างการมีส่วนร่วมของกลุ่มประชากรเป้าหมาย (Target Population) โดยเฉพาะกลุ่มคนเมืองและเยาวชน คนรุ่นใหม่ ให้เป็นพลเมืองที่ตื่นตัวและตื่นรู้ (Active Citizen)


นายชัชชาติ เปิดเผยภายหลังจากการประชุมหารือว่า จริงๆ แล้วเรื่องนี้เป็นเรื่องสืบเนื่อง ตั้งแต่ในช่วงที่หาเสียงเลือกตั้ง ผู้ว่าฯกทม. เรื่องใหญ่เรื่องหนึ่งที่ทุกคนพูดถึงคือ เรื่องฝุ่น PM2.5 ซึ่งเป็นเรื่องที่ประชาชนสั่งให้ทำ ประกอบกับทาง สสส. ได้สนับสนุนมูลนิธิส่งเสริมการออกแบบอนาคตประเทศไทย ซึ่งเป็นผู้ที่นำหลาย ๆ หน่วยงานมาเจอกันเพื่อหาทางออกร่วมกันโดยจัดเวิร์คชอป เรื่อง PM2.5 ซึ่งเราก็ยินดี เพราะนโยบายเรื่อง PM2.5 มีอยู่หลายเรื่องและเริ่มดำเนินการไปแล้ว หลัก ๆ มี4 ด้าน ดังนี้ 

นายชัชชาติ  สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าฯกทม. ประชุมโครงการสานพลังเคาท์ดาวน์ PM2.5 เพิ่มสุขภาวะคนเมือง (หลวง)

1. การกำจัดต้นตอของ PM2.5  มีการตั้งนักสืบฝุ่น PM2.5 ร่วมกับมหาวิทยาลัยวิเคราะห์ฝุ่น PM2.5  ในกรุงเทพฯ มาจากไหน ทำให้มีข้อมูลระยะยาวและดำเนินการเชิงรุก เช่น กำจัดต้นตอจากรถที่ใช้ระดับเชื้อเพลิงดีเซลที่เผาไหม้ไม่มีประสิทธิภาพอาจจะเป็นเรื่องหนึ่งที่อยู่ในการสัมมนาครั้งนี้

 

โดยเฉพาะการเปลี่ยนรถยนต์ที่ใช้ระบบสันดาปเป็นรถไฟฟ้า ซึ่งมีรถเก่าจำนวนมากในกรุงเทพฯ ถ้าไปซื้อรถไฟฟ้าอาจจะแพง ถ้าเปลี่ยนแปลงให้เป็นรถไฟฟ้าได้ทางโรงเรียนฝึกอาชีพ กทม. อาจจะช่วยสอนได้

 

2. การไปดูต้นตอว่าโรงงานไหนปล่อยควันพิษอย่างไร โดยเมื่อวันที่ 10 มิ.ย. 65 ทางกรมโรงงานอุตสาหกรรมได้มีมาตรการออกมาว่า โรงงานต้องมีการติดตามควันมลพิษที่ปล่อยออกมาจากปล่อง ซึ่งเราจะเอาข้อมูลตรงนี้มาเปิดเผยให้มากขึ้น

 

ในส่วนเรื่องการบรรเทาเหตุที่เกิด ต้องพยายามทำในส่วนที่มีค่า PM2.5 สูงให้ต่ำให้ได้ เช่น บางจุดให้ใช้รถสาธารณะ จำกัดการใช้รถยนต์ สนับสนุนให้คนใช้รถสาธารณะให้มากขึ้น หรือปลูกต้นไม้ล้านต้นตามนโยบายเราเพื่อลดฝุ่น 

 

3. การป้องกัน จะต้องมีการแจกอุปกรณ์เพื่อช่วยบรรเทาฝุ่น เช่น หน้ากาก เครื่องกรองอากาศ ให้กับกลุ่มเปราะบาง รวมทั้งทำพื้นที่ปลอดภัยในโรงเรียน โรงพยาบาล ศูนย์สาธารณสุขต่าง ๆ

 

และ 4. การคาดการณ์และการแจ้งเหตุ โดยมีเครือข่ายตัวเซ็นเตอร์ให้เยอะขึ้น ปัจจุบัน กทม. มีอยู่ 50 จุด ต้องร่วมกับภาคเอกชน มหาวิทยาลัย ให้เป็นอย่างน้อย 1,000 จุด ทั่วกรุงเทพฯ จะได้มีการเตือนภัย รวมทั้งการพยากรณ์ฝุ่นให้แม่นยำขึ้น มีข้อมูลบนบอร์ดให้ประชาชนเห็นเรียลไทม์ในจุดต่าง ๆเช่นโรงเรียน สถานที่สาธารณะ เพื่อให้ประชาชนสามารถป้องกันตนเองได้ 

 

“ผมเชื่อว่ามันต้องมี 2 องค์ประกอบด้วยกันคือ ใช้ ฮาร์ดพาวเวอร์ คือ กฎหมายต้องเข้มข้น กทม. ต้องไปตรวจรถควันดำ ไซต์งานก่อสร้าง ขณะเดียวกับ ซอฟพาวเวอร์ ก็สำคัญ อย่างที่จีนเขาเอาข้อมูลเปิดเผยออกมาเลยว่า PM2.5 เท่าไหร่

 

ถ้าหากเราOPEN DATA  มีข้อมูลว่าบริเวณไหนปล่อย PM2.5 พลังของประชาชนจะมีส่วนในการบังคับให้คนลดการใช้การปล่อยPM2.5 ลง เป็นมาตรการทางการตลาด มาตรการทางสังคม ซึ่งมีผลไม่น้อยกว่าฮาร์ดพาวเวอร์ หาก กทม. สามารถเปิดเผยข้อมูลต่าง ๆ ได้มากขึ้น” นายชัชชาติ กล่าว

นายชัชชาติ ได้กล่าวเสริมถึงปัญหา PM2.5 เพิ่มเติม คือ การขาดข้อมูลที่แท้จริง ที่มีการศึกษาวิจัยอย่างต่อเนื่อง กทม. จะทำโครงการนักสืบฝุ่น คือจะรวบรวมกับทางมหาวิทยาลัยในการวิเคราะห์อากาศอย่างต่อเนื่อง ว่าฝุ่นมาจากไหน รายละเอียดเป็นอย่างไร เพื่อทำให้เราสามารถเข้าใจปัญหาอย่างถ่องแท้ เรื่องฝุ่นมีหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องมีเจ้าภาพที่ร่วมมือกันไม่เช่นนั้นแล้วการบังคับใช้กฎหมายจะลำบาก นอกจากนี้ ปัญหาฝุ่นที่มาเป็นฤดูกาล ในช่วงเดือนพ.ย. และหมดเดือนมี.ค. ทำให้การแก้ไขปัญหาเป็นแบบระยะสั้น แต่จริง ๆ แล้วมีผลต่อสุขภาพในระยะยาว ฝุ่นมาแค่ 5 เดือน แต่ผลร้ายอยู่ไปตลอดชีวิตหากเข้าไปในปอด ต้องเป็นการวางแผนอย่างเอาจริงเอาจัง และทำในระยะยาว และให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา 

“ต่อไปในอนาคตการแก้ไข PM2.5 อาจจะใช้แพลตฟอร์ม เปิดเผยข้อมูลเลยว่า โรงงานนี้ปล่อยสารพิษเท่าไหร่ แต่ละเขตดูแลอย่างไร ถ้าทุกคนเห็นข้อมูลที่โปร่งใส ผมเชื่อว่าจะเกิดความร่วมมือและเกิดพลัง ทั้งซอฟพาวเวอร์ คือ พลังของประชาชนที่เข้ามาดูแลพวกนี้ด้วย PM2.5 ไม่ใช่ปัญหาของคนใดคนหนึ่ง เป็นปัญหาของทุกคนที่ต้องร่วมมือกัน” นายชัชชาติกล่าว

ด้านนายชาติวุฒิ กล่าวว่า ปีนี้ สสส. ให้ความสำคัญกับปัญหามลพิษทางอากาศที่เข้มข้น ต้องมานั่งคุยกันว่าสุดท้ายทางออกในการแก้ปัญหาฝุ่นคืออะไร ทุกคนสามารถมีส่วนร่วม กลไกสำคัญคือจุดคานงัดที่ทุกคนสามารถจัดการปัญหา ทุกคนสามารถแก้ไขปัญหาฝุ่นได้

 

ดร.สุมิท กล่าวเสริมว่า การทำงานของเราไม่ใช่การคิดแผน แต่เป็นการชวนมาขับเคลื่อน จุดอ่อนของการแก้ไขปัญหา PM2.5 คือ 1.มีคนรับผิดชอบในเรื่องของกฎหมายและนโยบายอยู่หลายองค์กรมาก ต่างคนต่างคิดต่างคนต่างทำ

 

2.ประชาชนทั่วไปมองไม่เห็นความสำคัญของเรื่องฝุ่น มีแต่เพียงคนบางกลุ่มที่ให้ความสำคัญและขับเคลื่อน ซึ่งหวังว่าเราจะสามารถเดินทางไปถึงจุดเปลี่ยนที่เราสามารถแก้ไขปัญหา PM2.5 ให้กับชาวเมืองหลวงได้