หลังครม. อนุมัติปรับลดการจัดซื้อวัคซีนโควิด-19 (AstraZeneca) จากเดิม 60 ล้านโดสกรอบวงเงิน 11,069.8845 ล้านบาท และเพิ่มการจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูปหรือแอนติบอดี้ออกฤทธิ์ยาว (Long-acting antibody : LAAB) จำนวน 257,500 โดส กรอบวงเงิน 7,569.2228 ล้านบาท
ทำให้หลายคนสงสัยว่า “LAAB” คืออะไร มีไว้ทำอะไร เหมาะกับใคร ใช้งานอย่างไร รวมไปถึงมีความสามารถป้องกันโรคโควิด-19 ได้จริงหรือไม่ และออกฤทธิ์ยาวนานแค่ไหน ฯลฯ ที่นี่มีคำตอบ
- LAAB ย่อมาจาก Long-acting Antibody หรือ ยาแอนติบอดีออกฤทธิ์ยาวแบบผสม ใช้เพื่อการป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อไวรัสก่อโรคโควิด-19 ซึ่งสามารถลบล้างฤทธิ์เชื้อไวรัสสายพันธ์ย่อยโอมิครอน BA.1, BA.1.1, BA.2, BA.3, BA.4 และ BA.5 ได้ รวมไปถึงยังสามารถลดความเสี่ยงของการติดเชื้อโควิด-19 แบบมีอาการได้อีกด้วย
- LAAB สามารถใช้ในผู้ที่มีอายุ 12 ปีขึ้นไป (น้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม) ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องและผู้ที่อาจมีการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนป้องกันโควิด-19 ได้ไม่เพียงพอจากโรคร่วมต่างๆ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง ผู้ป่วยที่ได้รับการปลูกถ่ายอวัยวะ ผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิคุ้มกันผู้ป่วยล้างไต รวมถึงผู้ที่ไม่สามารถรับวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ได้
- เมื่อไม่นานมานี้ แอสตร้าเซนเนก้าได้ประกาศผลลัพธ์จากการทดลองแท็คเคิล (TACKLE) การศึกษาระยะที่ 3 เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยโควิด-19 ที่มีอาการเล็กน้อยถึงปานกลาง ซึ่งแสดงถึงประสิทธิภาพของ LAAB ในการใช้เพื่อป้องกันการเกิดโรครุนแรง และป้องกันการเสียชีวิต โดยผลการศึกษานี้บ่งชี้ว่า LAAB สามารถมีบทบาทในการใช้รักษาโรคโควิด-19 ซึ่งต้องรอการขึ้นทะเบียนการใช้ในอนาคต
- ทั้งนี้ LAAB มีผลข้างเคียงที่ยอมรับได้ดี และไม่มีการระบุถึงปัญหาด้านความปลอดภัย โดยผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดคือปฏิกิริยาบริเวณที่ฉีด ซึ่งส่วนมากมีอาการเล็กน้อยถึงปานกลางและสามารถหายได้เอง
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากมีผู้ป่วยหนักและเสียชีวิตจากโควิด-19 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่มีภูมิคุ้มกันต่ำซึ่งมีความเสี่ยงสูงต่อการเสียชีวิตหากมีการติดเชื้อแม้ว่าจะได้รับการฉีดวัคซีนแต่ไม่เกิดภูมิคุ้มกันโรคเนื่องจากร่างกายของผู้ป่วยกลุ่มนี้ไม่สามารถสร้างแอนติบอดี้จากวัคซีนได้เหมือนกับคนปกติทั่วไป
ดังนั้นจึงจำเป็นต้องปรับเพิ่มการจัดซื้อภูมิคุ้มกันสำเร็จรูป (LAAB) จำนวน 257,500 โดส โดยมุ่งใช้กับกลุ่มเสี่ยงสูงที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ 3 กลุ่มโรคได้แก่
- ผู้ป่วยล้างไต
- ผู้ป่วยปลูกถ่ายอวัยวะ
- ผู้ป่วยโรคเกี่ยวกับภูมิคุ้มกันตนเอง ซึ่งจะช่วยป้องกันการป่วยได้ถึง 83%
ทั้งนี้ กรมควบคุมโรค จะได้มีการปรับแผนรับมอบวัคซีนเพื่อให้สอดคล้องกับการคาดการณ์ความต้องการวัคซีนเข็มกระตุ้น (Booster Dose) ภายในประเทศ และลดการสูญเสียกรณีวัคซีนหมดอายุด้วย