ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิยาลัย โพสต์ข้อความว่า
โควิด-19 สายพันธุ์ BA.5 กำลังจะครองพื้นที่ ทำให้มีการระบาดมากขึ้น
หลังจากนักเรียนเปิดเทอม โควิด 19 ก็ได้มีการระบาดเพิ่มขึ้นมาโดยตลอด โดยเฉพาะในช่วง 2 อาทิตย์หลังนี้
มีผู้ป่วยจำนวนมาก ส่วนใหญ่อาการไม่รุนแรง โดยเฉพาะในเด็ก
ถ้าดูการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ ที่ศูนย์ฯ ได้ทำการตรวจมาโดยตลอด จะเห็นได้ชัดว่า แต่ละสายพันธุ์จะครองพื้นที่ อยู่ไม่นาน
กราฟที่เห็นจะเห็นได้ชัดว่า สายพันธุ์โอมิครอน เปลี่ยนจาก BA.1 มาเป็น BA.2 และ ในเดือนนี้
สายพันธุ์ BA.2 กำลังจะถูกแทนที่ด้วยสายพันธุ์ BA.5 ในอาทิตย์ที่ผ่านมาจนถึงวันนี้
สายพันธุ์ BA.5 กำลังจะยึดพื้นที่ทั้งหมดแทน BA.2
ทุกครั้งที่มีการเปลี่ยนแปลงสายพันธุ์ การระบาดจะเพิ่มขึ้นเป็นระลอก
สายพันธุ์ BA.5 เป็นสายพันธุ์ที่หลบหลีกภูมิต้านทานของวัคซีนได้สูงขึ้นไปอีก
จึงไม่แปลกที่ฉีดวัคซีนแล้ว มีโอกาสติดโรคได้ อย่างไรก็ตามอาการของโรคที่ผ่านมา ก็ไม่ได้รุนแรง
ถ้านับจำนวนทั้งหมดของผู้ติดเชื้อ ขณะนี้น่าจะอยู่ที่หลายหมื่นคน มากกว่ายอดที่รับไว้ในโรงพยาบาลที่กระทรวงรายงาน หลายสิบเท่า
ดังนั้นอัตราการเสียชีวิตขณะนี้น่าจะน้อยกว่า 0.1% ของผู้ที่ติดเชื้อ
และผู้ที่เสียชีวิตส่วนใหญ่ก็ยังเป็น 608 และผู้ที่ได้รับวัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม
วัคซีนช่วยลดความรุนแรงของโรคได้ ทำให้การระบาดขึ้นสูงขณะนี้ จึงสามารถดูแลรักษาที่บ้านได้เป็นจำนวนมาก
การระบาดขณะนี้อยู่ในฤดูกาล และจะระบาดต่อไป จนถึงเดือนสิงหาคม จึงจะค่อยๆลดลง ประชาชนส่วนใหญ่ก็จะติดเชื้อไปเป็นจำนวนมาก
อยากให้ทุกคนควรได้รับวัคซีนอย่างน้อย 3 เข็มขึ้นไป จะเป็น 4 เข็มหรือ 5 เข็ม ก็คงขึ้นอยู่กับระยะเวลาห่างของเข็มสุดท้ายว่าฉีดมาแล้วนานเท่าไหร่
สำหรับผู้ที่ติดเชื้อ ถ้าร่างกายแข็งแรงดี สามารถหายได้เอง ที่เป็นห่วงคือ กลุ่มเปราะบาง
และผู้ที่ยังได้วัคซีนไม่ครบ 3 เข็ม ควรจะได้ยาต้านไวรัส อย่างเร็ว ยาต้านไวรัสที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ มีอยู่ 3 ตัวที่ใช้ในการป้องกันลดความรุนแรงของโรค
ลดการนอนโรงพยาบาล ลดการเสียชีวิต คือ remdesivir, molnupiravia และ paxlovid จึงเป็นยาที่แนะนำให้ใช้ในกลุ่มเปราะบางตั้งแต่เริ่มวินิจฉัยได้ และให้เร็วที่สุด อย่างน้อยต้องภายใน 5 วันหลังมีอาการ