โรคลืมใบหน้า หรือโพรโซแพ็กโนเซีย (Prosopagnosia) คือการป่วยล่าสุดของ "แบรต พิตต์" นักแสดงฮอลลิวูด เจ้าของรางวัลออสการ์นักแสดงสมทบชายจากหนัง Once Upon a Time in… Hollywood ซึ่งเจ้าตัวระบุว่ากำลังเป็นโรคดังกล่าวอยู่ โดยมีอาการไม่สามารถจดจำใบหน้าของผู้คนได้ และบางครั้งก็ลืมแม้กระทั่งใบหน้าตัวเอง ผ่านการให้สัมภาษณ์ทางนิตยสาร GQ
"โรคลืมใบหน้า" คืออะไร อาการเป็นอย่างไร อันตรายมากไหม "ฐานเศรษฐกิจ" จะพาไปไขคำตอบ
โรคลืมใบหน้า (Prosopagnosia) เป็นภาวะบกพร่องของสมองในการรับรู้และประมวลผล สูญเสียการจดจำใบหน้าอย่างสมบูรณ์ โดยคำนี้ถูกตั้งโดย Joachim Bodamer นักประสาทวิทยาชาวเยอรมัน ซึ่งเป็นการนำคำนี้มาจากภาษากรีกโบราณ คือ Prosopon ที่หมายถึงใบหน้า และ Agnosia หมายถึงไม่รู้
ทั้งนี้ เพื่อให้เกิดความเข้าใจง่ายก็คือ ผู้ป่วยยังมองเห็นปกติ แต่จะมองหน้าของอีกฝ่ายเป็นโล่งๆ ไม่ก็เห็นตำแหน่งอวัยวะต่างๆ ของใบหน้าสลับกัน จนทำให้ไม่สามารถแยกแยะบุคคลได้
สำหรับอาการ โพรโซแพ็กโนเซีย มีสองประเภทหลักๆ คือ
ผลกระทบที่สำคัญของการเป็น "โรคลืมใบหน้า" คือการสร้างความสัมพันธ์กับผู้อื่น เนื่องจากผู้ป่วยจะไม่สามารถจดจำใบหน้าผู้อื่นได้ และการจะหวังพึ่งการจำทรงผม เสื้อผ้า น้ำเสียง หรือท่าทาง ก็ไม่สามารถช่วยได้เสมอไป ดังนั้นการจะสานสัมพันธ์กับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนรักหรือเพื่อนร่วมงานจึงเป็นไปได้ยาก
โดยปัญหาในเรื่องของความสัมพันธ์นี้อาจส่งผลกระทบได้ถึงหน้าที่การงาน เพราะการที่พวกเขาไม่สามารถจดจำใบหน้าได้ จึงเป็นการจำกัดเส้นทางใช้ชีวิตบางส่วนไป การจะไปติดต่อลูกค้า หากเราไม่สามารถจำหน้าลูกค้าได้ ก็อาจจะส่งผลให้เกิดปัญหาในภายหลัง
อย่างไรก็ดี โรคลืมใบหน้า ยังส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมการแสดงออกของผู้ที่เป็นโรคนี้อีกด้วย โดยผู้ที่เป็นโรคลืมใบหน้านั้นมักจะหลีกเลี่ยงการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น จนสุดท้ายก็กลายเป็นโรคหวาดกลัวการเข้าสังคมไปในที่สุด
และยิ่งหากผู้ป่วยโรคลืมใบหน้านั้นไม่สามารถจดสิ่งของรอบตัวได้ ก็จะสิ่งสร้างปัญหาในการใช้ชีวิตประจำวันขึ้นอีกด้วย
นอกจากนี้ อาการป่วยดังกล่าวยังไม่พบการรักษาที่ทำให้หายขาด เพราะส่วนใหญ่เกิดจากการบาดเจ็บรุนแรงที่ส่วนของสมอง เช่น รอยพับสมองซีกขวาส่วน Fusiform Gyrus ที่เสียหายแล้วก็ยากต่อการฟื้นฟูให้กลับมาเป็นปกติ ซึ่งนับว่าเป็นอาการที่น่ากลัวมาก เนื่องจากจะส่งผลอย่างมากต่อการใช้ชีวิต
แต่นักวิจัยก็ได้พยายามหาสาเหตุในการเกิดโรค และพยายามพัฒนาโปรแกรมการฝึกที่จะช่วยให้ผู้ป่วยโรคลืมใบหน้าสามารถจดจำใบหน้าได้ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยังเป็นที่คาดการณ์กันว่า กลยุทธ์ในการช่วยเหลือผู้ป่วย "โรคลืมใบหน้า" ให้สามารถกลับมาจดจำใบหน้าได้ดังเดิมนั้น อาจจะได้ผลแค่เฉพาะกับผู้ที่กำลังเริ่มมีอาการของโรคลืมใบหน้าเท่านั้น
ผู้ป่วยโรคลืมใบหน้าบางรายอาจจะสามารถพัฒนากลยุทธ์ในการจดจำผู้อื่นผ่านทางเสื้อผ้า ทรงผม การแสดงออก พฤติกรรม น้ำเสียง ตลอดไปจนรูปร่างและท่าทางการเดิน แต่วิธีการนี้อาจใช้ไม่ได้ผลทุกครั้ง
โดยเฉพาะหากเป็นการพบเจอโดยบังเอิญ หรือต้องพบปะคนใหม่ๆ หรือใครก็ตามที่ทำการปรับเปลี่ยนรูปลักษณ์และทรงผมของตัวเอง ก็จะทำให้ผู้ป่วยโรคลืมใบหน้าไม่สามารถจดจำพวกเขาได้ในทันที
ที่มา : hellokhunmor.com ,nhs ,healthline