เตือน! จับตาโอมิครอน BA.2.75 สายพันธุ์ต้องเฝ้าระวัง น่ากลัวแค่ไหน เช็คเลย

15 ก.ค. 2565 | 01:01 น.
อัปเดตล่าสุด :15 ก.ค. 2565 | 08:01 น.

เตือน! จับตาโอมิครอน BA.2.75 สายพันธุ์ต้องเฝ้าระวัง น่ากลัวแค่ไหน เช็คเลยที่นี่มีคำตอบ หลังพบระบาดแล้วหลายประเทศ แนะไทยเกาะติดสถานการณ์

รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า

 

15 กรกฎาคม 2565 

 

เมื่อวานทั่วโลกติดเพิ่ม 783,526 คน ตายเพิ่ม 1,329 คน รวมแล้วติดไป 564,935,477 คน เสียชีวิตรวม 6,380,880 คน

 

5 อันดับแรกที่ติดเชื้อสูงสุดคือ ฝรั่งเศส อิตาลี ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และบราซิล 

 

เมื่อวานนี้จำนวนติดเชื้อใหม่มีประเทศจากยุโรปและเอเชียครอง 6 ใน 10 อันดับแรก และ 13 ใน 20 อันดับแรกของโลก

 

จำนวนติดเชื้อใหม่ในแต่ละวันของทั่วโลกตอนนี้ มาจากทวีปเอเชียและยุโรป รวมกันคิดเป็น 65.73% ของทั้งโลก ในขณะที่จำนวนการเสียชีวิตคิดเป็น 40.33%

สถานการณ์ระบาดของไทย

 

จากข้อมูล Worldometer เช้านี้พบว่า

 

จำนวนเสียชีวิตเมื่อวาน สูงเป็นอันดับ 12 ของโลก และอันดับ 3 ของเอเชีย แม้สธ.ไทยจะปรับระบบรายงานตั้งแต่ 1 พ.ค.จนทำให้จำนวนที่รายงานนั้นลดลงไปมากก็ตาม

 

BA.2.75 เป็นสายพันธุ์ที่ต้องเฝ้าระวัง

 

Omicron (โอมิครอน) สายพันธุ์ย่อย BA.2.75 หรือที่มีชื่อเล่นที่นักวิชาการตั้งกันให้ว่า "Centaurus" นั้นเริ่มพบระบาดมากในอินเดียเป็นประเทศแรก จากนั้นพบในอีกหลายประเทศ แม้จำนวนในประเทศอื่นนั้นยังไม่มาก แต่ทั่วโลกต่างจับตามอง เนื่องจากมีการกลายพันธุ์หลายตำแหน่ง และมีแนวโน้มที่จะมีสมรรถนะการแพร่ระบาดเร็วกว่าเดิม

 

จับตาโอมิครอน BA.2.75 สายพันธุ์ต้องเฝ้าระวัง

 

ล่าสุดพบในหลายรัฐของอเมริกา เช่น แคลิฟอร์เนีย วอชิงตัน อิลลินอยส์ ฯลฯ และอีกหลายประเทศ

 

ไทยเราจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์ให้ดี และควรป้องกันตัวอย่างเคร่งครัดระหว่างการใช้ชีวิตประจำวัน เนื่องจากเปิดเสรีการใช้ชีวิตและการท่องเที่ยว เพราะอาจทำให้ระบาดทับซ้อนคล้ายกับระลอกสามเมื่อกลางปีที่แล้ว ที่เรามีทั้งอัลฟาต่อด้วยเดลตา จนทำให้เกิดการติดเชื้อ ป่วย และเสียชีวิตจำนวนมาก

ภาพรวมการได้รับวัคซีนทั่วโลก

 

กลุ่มประเทศที่มีรายได้สูง และปานกลางระดับสูงนั้นมีสัดส่วนประชากรที่ได้รับวัคซีนครบแล้วมากกว่ากลุ่มประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำและประเทศที่มีรายได้น้อย

 

ปรากฏการณ์เช่นนี้ ในเชิงสาธารณสุขจะแปลความว่ายังอยู่ในสถานการณ์ที่ไม่ดีนัก เพราะโรคระบาดที่แพร่ทั่วโลกอย่างโควิด-19 นั้นจะอยู่ในภาวะที่ควบคุมได้ดีก็ต่อเมื่อทั่วโลกสามารถเข้าถึงวัคซีนป้องกันได้โดยถ้วนทั่ว มิฉะนั้นก็ย่อมมีโอกาสเกิดการปะทุระบาดเป็นระลอกไปอย่างต่อเนื่อง

 

นอกจากนี้ในกลุ่มประเทศที่ไม่สามารถเข้าถึงวัคซีนที่มีประสิทธิภาพได้นั้น ก็อาจทำให้มีจำนวนการติดเชื้อสูง และเป็นที่มาของไวรัสที่กลายพันธุ์เป็นสายพันธุ์ใหม่ๆ ที่นำไปสู่การระบาดหนักได้

 

ดังนั้น แนวทางการใช้ชีวิตของประชากรโลกในครึ่งปีหลังของ 2565 นี้ จึงควรดำเนินชีวิตอย่างมีสติ ป้องกันตัวอย่างสม่ำเสมอ "การใส่หน้ากาก"เป็นเรื่องที่จำเป็น เวลาออกไปตะลอกนอกบ้าน ไม่ว่าจะทำมาค้าขาย พบปะคนอื่น ศึกษาเล่าเรียน หรือดำเนินกิจกรรมในชีวิตประจำวันก็ตาม  

 

เรื่องที่สำคัญที่สุดคือ

 

การบอกความจริง" ไม่ปกปิด ไม่บิดเบือน ไม่รายงานต่ำกว่าความจริง ไม่ tone down harm and risk perception

 

นี่คือความรับผิดชอบในบทบาทหน้าที่ ความซื่อสัตย์ และความกล้าหาญ ของหน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยในชีวิตของทุกคนในสังคม

 

ในภาวะวิกฤติ ประชาชนจำเป็นต้องรู้ความจริงอย่างละเอียด เพื่อที่จะรู้เท่าทันสถานการณ์จริง และตัดสินใจประพฤติปฏิบัติตัวได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

 

การกล่าวอ้างว่า ใครๆ ก็รายงานต่ำกว่าความจริง ก็เลยทำบ้างนั้น คงเป็นแนวคิดที่ไม่มีใครปรารถนา และไม่ควรยอมรับให้เกิดขึ้น ไม่ว่าที่ใดก็ตามในโลก เพราะจะนำไปสู่ ความไม่เชื่อมือ ไม่เชื่อมั่น และไม่เชื่อใจ" ในที่สุด
ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดี ที่หน่วยงานของเขาเผยแพร่ข้อมูลให้แก่ประชาชนในประเทศด้วยความจริงใจ ย่อมแสดงถึงการให้ความสำคัญกับชีวิตของทุกคนในสังคม