รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล (หมอนิธิพัฒน์) หัวหน้าสาขาวิชาโรคระบบการหายใจและวัณโรค ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊กส่วนตัว (นิธิพัฒน์ เจียรกุล) โดยมีข้อความระบุว่า
เสร็จจากการสัมภาษณ์ทีวีเรื่องสถานการณ์โควิดหลังช่วงวันหยุดยาวห้าวัน ไม่รู้ตัวเองมองโลกสวยเกินไปหรือเปล่า
ว่าหลังเดินทางกลับสู่ภูมิลำเนากันเรียบร้อยแล้วในอีกสองวันข้างหน้า สถานการณ์จะไม่บานปลายไปมากกว่าที่เป็นอยู่ในขณะนี้
เหมือนที่เคยให้ความเห็นไว้ครั้งก่อนว่า หลังสงกรานต์จะไม่เกิดปรากฏการณ์เขื่อนแตก เพราะเขื่อนมันแตกไปก่อนสงกรานต์พอดี
โดยพีคหลักโอมิครอนจากสายพันธุ์ย่อย BA.2 ช่วงนั้น ยอดผู้ติดเชื้อขึ้นไปถึงวันละแสนกว่า และผู้ป่วยอาการรุนแรงสะสมที่สองพันกว่า
ที่เป็นเช่นนี้เพราะส่วนตัวเห็นว่าพีครองของโอมิครอนจากสายพันธุ์ย่อย BA.5 น่าจะขึ้นสูงสุดแล้วในช่วง 26 มิ.ย. ถึง 9 ก.ค.
โดยมีผู้ติดเชื้อราวครึ่งหนึ่งของพีคหลัก ตกราววันละห้าหมื่นกว่าคน คงที่มาตลอดและมีแนวโน้มอาจเริ่มลดลง
โดยยอดผู้ป่วยอาการรุนแรงยังขึ้นไปไม่เกิน 800
นั่นหมายถึงว่าความรุนแรงของ BA.5 อาจน้อยกว่า BA.2 ราว 20%
สนับสนุนเล็กๆ ด้วยข้อมูลจากบ้านริมน้ำ ที่นี่จำลองสถานการณ์ของกรุงเทพในภาพรวมได้ดี
และน่าจะนำหน้าสถานการณ์ของประเทศในภาพรวมไปราวหนึ่งถึงสองสัปดาห์
วันนี้หลังตรวจเยี่ยมผู้ป่วยในไอซียูโควิด ทั้งเจ็ดรายตอนนี้อยู่ในช่วงปลอดภัยรอการฟื้นตัว
คนไข้เช่นเดียวกันที่ตกค้างรอเตียงรับไว้ในโรงพยาบาลเริ่มลดลงกว่าเดิมเกือบครึ่ง
สมาชิกบ้านริมน้ำที่ติดโควิดก็ลดลงจากหลักร้อยกว่าไปเหลือหลักสิบกว่า
ต้องยืนยันอีกครั้งหลังวันหยุดยาวว่าจะมีการกระเพื่อมหรือไม่ ถ้าไม่กระเพื่อมมาก
แสดงว่าเราผ่านพ้นพีครองที่ว่านี้ไปได้โดยไม่บอบช้ำมาก ซึ่งเราต่างจากหลายประเทศที่กำลังเผชิญปัญหาหนักอกจาก BA.5 ในขณะนี้
น่าจะเป็นเพราะบ้านเราติด BA.2 กันไปมากแล้ว และวินัยการใส่หน้ากากคนของเรายังเยี่ยมอยู่
แม้บางช่วงฝ่ายนโยบายจะมาชวนให้ถอดหน้ากากได้ ก่อนมาเปลี่ยนใจภายหลังเมื่อฝ่ายประชาชนไม่เอาด้วย
สำหรับคนที่รอลุ้นว่าปลายปีนี้ จะมีวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ครอบคลุมสายพันธุ์ BA.4/BA.5 ออกมาให้ใช้งานกันได้นั้น
อาจคงต้องรอข้อสรุปการตัดสินใจของบริษัทยักษ์ใหญ่ในการผลิตว่าจะเดินหน้าหรือไม่
เพราะวัคซีนเข็มกระตุ้นที่ครอบคลุมสายพันธุ์ BA.1 ที่เตรียมไว้ก็อาจไม่มีประโยชน์เพราะตลาดวายแล้ว
จะเตรียมไว้ไล่ตามตัวใหม่ๆ พอถึงเวลาออกมาจริงก็อาจมีตัวใหม่กว่ามาอีก
ท้ายสุดอาจจะใช้แค่เข็มกระตุ้นแบบเดิมๆ เพื่อป้องกันการป่วยรุนแรงอาจจะคุ้มค่ากว่า แล้วรอให้เชื้อสายพันธุ์ย่อยค่อยๆ หมดแรงกันไปเอง