รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ (หมอธีระ) คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Thira Woratanarat (ป๊ามี้คีน)" โดยมีข้อความว่า
ข้อควรระวังเกี่ยวกับระยะฟักตัวของฝีดาษลิงในแนวทางฝีดาษลิงของกรมการแพทย์ สธ. วันที่ 31 กรกฎาคม 2565
มีการระบุแหล่งอ้างอิงจากหลายแหล่ง ได้แก่ อเมริกา (CDC), แคนาดา, และองค์การอนามัยโลก
แต่ข้อมูลเกี่ยวกับ ระยะฟักตัว (incubation period) ระบุไว้ว่า 7-21 วันนั้น ไม่น่าจะถูกต้อง
เพราะไม่มีแหล่งข้อมูลใดเลยที่ระบุเช่นนี้
ด้วยข้อมูลจากแหล่งต่างๆ ทั้งองค์การอนามัยโลก, อเมริกา, สหราชอาณาจักร, แคนาดา
,New England Journal of Medicine และ UpToDate จะพบว่าระยะฟักตัว
หรือเวลาตั้งแต่รับเชื้อจนเกิดอาการ มีพิสัยที่กว้าง โดยระยะฟักตัวอาจสั้นมากตั้งแต่ 3 วันหรือยาวไปถึง 21 วันได้
ข้อมูลนี้สำคัญมาก เพราะจะส่งผลกระทบต่อกระบวนการสอบสวนโรค
การระบุแหล่งต้นตอของโรคว่ามาจากในหรือนอกประเทศ
รวมถึงคำแนะนำที่จะให้ประชาชนเฝ้าระวังกรณีที่สัมผัสโรค
ดังเช่นกรณีล่าสุดของชาวต่างชาติที่เป็นฝีดาษลิงรายที่ 3 ที่รายงาน
หากมีระยะฟักตัวสั้นเช่น 3 วัน ก็อาจต้องมีการเฝ้าระวังแหล่งต้นตอของโรคภายในประเทศด้วย
หากหลุดไปก็จะทำให้เกิดปัญหาแพร่กระจายในชุมชน
และนำไปสู่ปรากฏการณ์ "กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้"