เศร้า 8 เดือน สูญเสียศิลปินแห่งชาติแล้ว 7 คน หลัง “สมบัติ เมทะนี” เสียชีวิต

18 ส.ค. 2565 | 05:26 น.
อัปเดตล่าสุด :18 ส.ค. 2565 | 12:37 น.

สถิติเศร้าวงการบันเทิงไทย หลัง “สมบัติ เมทะนี” พระเอกตลอดกาล เสียชีวิต ทำให้ในช่วง 8 เดือนของปี 2565 ประเทศไทยต้องสูญเสียบุคคลสำคัญ ซึ่งเป็นศิลปินแห่งชาติแล้ว เป็นรายที่ 7 ไปดูข้อมูลกันว่าตลอดระยะเวลากว่าครึ่งปีที่ผ่านมา ประเทศไทยต้องสูญเสียใครไปบ้าง

วงการคนวงการบันเทิงไทย ต้องพบกับข่าวเศร้าอีกครั้ง หลังจาก “แอ๊ด” สมบัติ เมทะนี พระเอกตลอดกาล ศิลปินแห่งชาติสาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ประจำปี 2559 เสียชีวิตแล้วอย่างสงบเช้าวันนี้ (18 ส.ค.) ในวัย 85 ปี ทิ้งตำนานนักแสดงที่รับบทเป็นพระเอกมากที่สุดในโลก ถึง 617 เรื่อง ซึ่งถูกบันทึกไว้โดยกินเนสส์บุ๊ก

 

การสูญเสียบุคคลสำคัญครั้งนี้ ถือเป็นข่าวเศร้าอีกหนึ่งครั้งในปี 2565 สำหรับคนบันเทิง และ "ศิลปินแห่งชาติ"  โดยตลอดระยะเวลา 8 เดือนที่ผ่านมา ประเทศไทยก็ได้สูญเสียศิลปินแห่งชาติในสาขาต่าง ๆ ไปแล้วถึง 7 คน 

สำหรับรายชื่อศิลปินแห่งชาติที่เสียชีวิตในปี 2565 มีดังนี้


12 มกราคม – ไวพจน์ เพชรสุพรรณ นักร้องเพลงลูกทุ่งชาวไทย 

  • ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (นักร้องเพลงลูกทุ่ง) เมื่อปี พ.ศ. 2540

 

20 กุมภาพันธ์ – เศรษฐา ศิระฉายา พิธีกร นักแสดง และนักร้องชาวไทย 

  • ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล-ขับร้อง) เมื่อปี พ.ศ. 2554

 

7 มีนาคม – ประเทือง เอมเจริญ 

  • ศิลปินแห่งชาติสาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) เมื่อปี พ.ศ. 2548

 

10 มีนาคม – สรพงศ์ ชาตรี นักแสดงชายชาวไทย

  • ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง เมื่อปี พ.ศ. 2551

 

6 กรกฎาคม – สมบัติ พลายน้อย (ส.พลายน้อย) นักเขียน

  • ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ เมื่อปี พ.ศ. 2553

 

5 สิงหาคม – เบ็ญจรงค์ ธนโกเศศ 

  • ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทย) เมื่อปี พ.ศ. 2541 

 

18 สิงหาคม – สมบัติ เมทะนี นักแสดงชาวไทย 

  • ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) เมื่อปี พ.ศ. 2559

สำหรับ ศิลปินแห่งชาติ ของประเทศไทย หมายถึงศิลปินผู้มีความสามารถ มีผลงานสร้างสรรค์และพัฒนาเป็นที่ยอมรับของวงการ และมีผลงานเป็นประโยชน์ต่อสังคม ศิลปินแห่งชาตินับเป็นทรัพยากรบุคคลสำคัญทางด้านศิลปะ ที่ได้สืบสานงานศิลปะของชาติจากอดีตถึงปัจจุบันและดำรงสืบไปในอนาคต

 

นับตั้งแต่เริ่มโครงการศิลปินแห่งชาติ (พ.ศ. 2528) ถึงประกาศรายชื่อศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2564 มีการประกาศยกย่องเชิดชูเกียรติศิลปินแห่งชาติรวมทั้งสิ้น 343 คน

 

ปัจจุบันมีหลักเกณฑ์การคัดเลือกจำแนกศิลปินแห่งชาติออกเป็นสาขาศิลปะ ต่าง ๆ คือ

 

สาขาทัศนศิลป์

 

หมายถึง ศิลปะที่มองเห็นได้ด้วยตา จะเป็นศิลปะสองมิติ หรือสามมิติ ซึ่งได้แก่ ผลงานศิลปกรรมประเภทต่าง ๆ ที่แสดงถึงภูมิปัญญาของผู้สร้างสรรค์ และมีเอกลักษณ์โดดเด่น 

 

สาขาวรรณศิลป์

 

หมายถึง บทประพันธ์ที่ทำให้เกิดจินตนาการ เห็นเป็นภาพมโนคติ ภาพลักษณ์ ความเพลิดเพลิน และเกิดอารมณ์ความรู้สึกต่าง ๆ ตามเจตนารมณ์ของผู้ประพันธ์ ได้แก่ กวีนิพนธ์ นวนิยาย เรื่องสั้น บันเทิงคดีสำหรับเด็กและเยาวชน อาทิ วรรณกรรมเยาวชน หนังสือเด็กที่ได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่อย่างกว้างขวาง

 

สาขาศิลปะการแสดง

 

หมายถึง ศิลปะที่เกี่ยวข้องกับการแสดง ซึ่งเป็นได้ทั้งแบบดั้งเดิมหรือพัฒนาขึ้นใหม่ ได้แก่ การดนตรี, นาฏศิลป์ และภาพยนตร์และละคร

 

ข้อมูลจาก : สารานุกรมไทยสำหรับเยาวชนฯ เล่มที่ 37 , วิกิพีเดีย