รู้จัก "โรคไต" ภัยร้ายคร่าชีวิตตลกดัง โป๊งเหน่ง เชิญยิ้ม

11 ก.ค. 2565 | 02:47 น.
อัปเดตล่าสุด :11 ก.ค. 2565 | 10:24 น.

การเสียชีวิตของ "โป๊งเหน่ง เชิญยิ้ม" ดาวตลกดังเมื่อวันที่ 10 ก.ค.ที่ผ่านมา ด้วยโรคไตและโรคแทรกซ้อนในวัยเพียง 59 ปี ทำให้เราต้องหันมาใส่ใจเกี่ยวกับโรคไตกันอีกครั้ง เพราะโรคนี้อาการมักปรากฏในระยะท้ายๆ เมื่อไตเสียหายไปมากแล้ว การสังเกตสัญญาณเตือนจึงเป็นเรื่องสำคัญ

หลายคนคงเคยได้ยินกันมาว่า “กินเค็ม ระวังเป็น โรคไต” เป็นการเตือนคนที่ชอบรับประทานอาหารรสเค็ม แต่อันที่จริง โรคไตไม่ได้เกิดจากการกินเค็มเพียงอย่างเดียว แต่ยังสามารถเกิดจากสาเหตุอื่น ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตประจำวัน ทำให้เราเป็นโรคร้ายนี้ได้ เราจึงควรทำความรู้จักโรคไตกันให้มากขึ้น

 

สาเหตุของการเกิดโรคไต

โรคไต เกิดขึ้นได้จากหลากหลายสาเหตุ ดังนี้

  • จากพันธุกรรม โดยอาจเป็นมาตั้งแต่กำเนิดหรือค่อย ๆ แสดงอาการในภายหลัง
  • เกิดจากโรคอื่นที่มีผลกระทบกับไต เช่น ความดันโลหิตสูง และโรคเบาหวาน เป็นต้น เช่นกรณีของคุณโป๊งเหน่ง เชิญยิ้ม ครอบครัวเผยว่า เป็นโรคเบาหวานก่อนที่จะลามมาเป็นโรคไต
  • การทานอาหารรสจัด ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่รสเค็ม แต่รวมไปถึงหวานจัด หรือเผ็ดจัดด้วยเช่นกัน
  • ดื่มน้ำน้อยเกินไป
  • ไม่ออกกำลังกาย
  • มีความเครียด

ไตเป็นอวัยวะสำคัญของร่างกาย

 

ความสำคัญของอวัยวะที่เรียกว่า “ไต”

ไต เป็นอวัยวะหนึ่งที่สำคัญมากกับร่างกาย ทำหน้าที่ขับของเสียออกจากร่างกาย ควบคุมความเป็นกรด-ด่างในกระแสเลือด ควบคุมความสมดุลของเกลือแร่ และควบคุมปริมาณน้ำในร่างกายอีกด้วย

 

ดังนั้น การดูแลไตจึงเป็นเรื่องสำคัญเพื่อที่ไตจะได้คงสภาพการทำงานต่อไปได้  เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่ไม่สามารถซ่อมแซมตัวเองให้กลับมาสมบูรณ์ได้ การเกิดความผิดปกติกับไตจึงเป็นเรื่องอันตราย หากไตมีปัญหาจะทำให้ประสิทธิภาพในการขับของเสียลดลง ทำให้เกิดอาการตัวบวม และในที่สุดจะทำให้เกิดไตวาย หรือภาวะไตล้มเหลวได้

 

สัญญาณเตือน อาการโรคไตระยะเริ่มต้น

  • ผู้ที่เริ่มมีอาการของโรคไต ในช่วงแรกแทบไม่มีสัญญาณเตือน ต่อไปนี้เป็นอาการต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นกับผู้ป่วยโรคไต ควรหมั่นสังเกตตนเอง เพื่อสามารถปรึกษาแพทย์และเข้ารับการรักษาได้ตั้งแต่เนิ่น ๆ
  • อาการปวดศีรษะในคนอายุน้อย โดยลักษณะอาการปวดศีรษะที่เกี่ยวข้องกับโรคไต จะเป็นการปวดตึบ ๆ บริเวณขมับหรือท้ายทอย หากมีอาการปวดศีรษะตามที่กล่าวมา ควรพบแพทย์เพื่อตรวจวัดความดันโลหิต เพราะผู้ป่วยโรคไตมักมีความดันโลหิตที่สูง
  • ปัสสาวะเป็นเลือด ปกติแล้วปัสสาวะจะมีสีเหลืองอ่อนจนถึงสีเหลืองเข้ม ขึ้นอยู่กับปริมาณการดื่มน้ำในขณะนั้น แต่ถ้าพบว่าปัสสาวะมีเลือดปน อาจจะเกิดการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ นิ่วในทางเดินปัสสาวะ หรืออาจเกิดเนื้องอกในทางเดินปัสสาวะ เป็นต้น
  • ปัสสาวะเป็นฟอง เกิดจากการมีโปรตีนไข่ขาวรั่วออกมาในปัสสาวะ ซึ่งมักเป็นอาการของภาวะโรคไตเรื้อรัง
  • ปัสสาวะกลางคืนบ่อยกว่าปกติ ผู้ที่ไตมีความผิดปกติ เช่น โรคไตเรื้อรัง ไตจะไม่สามารถดูดน้ำกลับเก็บในกระเพาะปัสสาวะได้ปกติ จึงทำให้ต้องปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
  • มีอาการบวมของหน้าและเท้า ผมร่วงผิดปกติ
  • อ่อนเพลีย เหนื่อยง่าย ขาดสมาธิ
  • บางรายน้ำหนักลด แต่บางรายผู้ป่วยอาจจะตัวบวม น้ำหนักขึ้นก็ได้
  • คลำพบก้อนเนื้อ บริเวณไต
  • ปวดบั้นเอวข้างใดข้างหนึ่ง
  • ผิวหนังจะซีด คัน มีจ้ำเลือดขึ้นง่าย
  • เบื่ออาหาร คลื่นไส้
  • ปากขม ไม่สามารถรับรสอาหารได้
  • ในเพศชายอาจมีอาการอวัยวะเพศไม่แข็งตัว

 

หากมีอาการดังกล่าว ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยอย่างละเอียด และรับการรักษาอย่างทันท่วงทีและป้องกันไม่ให้เกิดภาวะไตวายเรื้อรัง

อาการของโรคไตทีหลากหลาย เราควรหมั่นสังเกต

ใครบ้างที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคไต

  • ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน ความดัน โรคเก๊าท์ เป็นต้น
  • ผู้มีมวลไตลดลง
  • ผู้มีความดันโลหิตสูง
  • ผู้คนในครอบครัวมีประวัติการเป็นโรคไต
  • ผู้มีอายุมากกว่า 60 ปี

 

การรักษาโรคไต

  •  รักษาตามอาการ เช่น การรับประทานยา และควบคุมความดันโลหิตให้เหมาะสม ลดพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การสูบบุหรี่ และหลีกเลี่ยงยาบางประเภท
  • รักษาด้วยวิธีการบำบัดทดแทนไต ใช้รักษาผู้ป่วย โรคไตเรื้อรัง เพื่อช่วยขจัดของเสียทดแทนไตที่เสียไป สามารถทำได้ 3 วิธี ดังนี้
  1. การฟอดเลือด เพื่อทำให้เลือดสะอาดโดยใช้ระยะเวลา 4-5 ชั่วโมง 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์
  2. การฟอกไตผ่านทางช่องท้อง อาศัยช่องท้องในการฟอกเลือด โดยจะฟอกวันละ 4 รอบ
  3. การปลูกถ่ายไต โดยการนำไตจากผู้บริจาคใส่เชิงกรานของผู้รับไต

 

การจัดการโภชนาการอาหารในแต่ละวันเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งเพื่อร่างกายที่แข็งแรง ปราศจากโรคภัยมาเบียดเบียน และสิ่งที่สำคัญไม่แพ้การรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ คือการตรวจสุขภาพไตอย่างสม่ำเสมอ เพื่อรู้เท่าทันโรคไตที่อาจเกิดขึ้นโดยที่เราไม่รู้ตัวนั่นเอง

 

อาหารที่ควรหลีกเลี่ยงสำหรับผู้ป่วยโรคไต

กรณีของผู้ป่วยโรคไต นอกจากการหลีกเลี่ยงอาหารรสเค็มแล้ว ควรหลีกเลี่ยงอาหารเหล่านี้ด้วย ได้แก่

  • อาหารที่มีโซเดียมและอาหารที่มีรสเค็ม เช่น ผงชูรส ผงปรุงรส และซอสต่าง ๆ
  • อาหารหมักดอง เช่น ปลาร้า ผักกาดดอง
  • เนื้อสัตว์ปรุงรสหรืออาหารแปรรูป  เช่น ไส้กรอก หมูยอ เบคอน
  • อาหารกระป๋อง เช่น อาหารกึ่งสำเร็จรูป ผลไม้กระป๋อง ปลากระป๋อง เป็นต้น เพราะอาหารพวกนี้จะใส่สารกันบูดและมีปริมาณโซเดียมสูงมาก
  • อาหารที่มีโคเลสเตอรอลสูงจากไขมันอิ่มตัวของพืชและสัตว์ เช่น กะทิ ไข่แดง หมูสามชั้น
  • อาหารที่มีส่วนผสมของเนยและครีม เช่น เค้ก คุกกี้ ขนมปัง รวมถึงของหวาน ขนมที่ใส่กะทิ
  • เนื้อสัตว์ติดมัน

 

อาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรรับประทาน

  • การรับประทานอาหารเหล่านี้ ช่วยดูแลสุขภาพไตให้แข็งแรงได้
  • เนื้อสัตว์ ควรรับประทานจำพวกปลาทะเลน้ำลึก ที่มีไขมันต่ำและโอเมก้า3 หรือเนื้อสัตว์ที่ไม่ติดมัน
  • ไข่ขาววันละ 2-3 ฟอง
  • เลือกใช้น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันคาโนล่า และน้ำมันมะกอก ในการปรุงอาหาร
  • รับประทานผลไม้ที่มีโพแทสเซียม ผักและผลไม้ที่มีสีอ่อน เช่น แอปเปิ้ล องุ่น ชมพู่ แตงกวา เป็นต้น
  • ดื่มน้ำเปล่าหรือน้ำสมุนไพรไม่หวานจัด เช่น น้ำใบเตย น้ำอัญชัน เป็นต้น
  • ใช้วิธีการย่าง ต้ม และอบ แทนวิธีการทอด

 

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลศิครินทร์ /โรงพยาบาลรามา Rama Channel /โรงพยาบาลเพชรเวช