จากการศึกษาพบว่า ผู้ที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ถึง 20-30 เท่าและผู้ใกล้ชิดที่ได้รับควันบุหรี่ (Secondarysmoker) ก็ยังมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคมะเร็งปอดมากกว่าถึง 1.5 เท่าเมื่อเปรียบเทียบกับคนทั่วไป
ผศ.นพ.ศิระ เลาหทัย แพทย์เฉพาะทางศัลยกรรมทรวงอกด้านการผ่าตัดส่องกล้องปอดจากคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล กล่าวว่า ถึงแม้ว่าปัจจุบันวิทยาการแพทย์ของการรักษาโรคมะเร็งปอดมีจะมีความก้าวหน้ามากขึ้น
อีกทั้งเทคโนโลยีการผ่าตัดปอดก็ยังพัฒนาไปมาก มีการทำเทคโนโลยีการผ่าตัดส่องกล้องเข้ามารักษาผู้ป่วยมะเร็งปอดมากขึ้น แต่ผลก็ยังไม่เป็นที่น่าพอใจนักเนื่องจากผู้ป่วยกว่าจะได้รับวินิจฉัยค่อนข้างช้า และมักมาตอนระยะท้ายๆ แล้ว
เนื่องจากกลุ่มผู้ป่วยส่วนมากไม่มีอาการเลย จึงไม่ตระหนักถึงการเข้ามาพบแพทย์ ดังนั้นวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาโรคมะเร็งปอดนั้นคือ การป้องกันไม่ให้เกิดโรค ซึ่งโอกาสนี้แนะนำคนทั่วไปที่ยังสูบบุหรี่ให้เลิกบุหรี่ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเป็นโรคมะเร็งปอด
อีกทั้งยังควรหมั่นตรวจร่างกายเป็นประจำโดยเฉพาะผู้ที่มีความเสี่ยง เช่น คนที่สูบบุหรี่ ผู้ที่ได้รับควันจากสิ่งรอบข้าง หรือคนที่มีอาการผิดปกติทางการหายใจ เช่น มีอาการไอเรื้อรัง ไอเป็นเลือด หรือ คนที่มีประวัติพ่อแม่พี่น้องเป็นมะเร็งปอด จะส่งผลทำให้ถ้าวินิจฉัยว่าเป็นโรคมะเร็งปอดได้เร็ว โอกาสการรักษาก็จะยิ่งหายขาดมากขึ้น
สำหรับวิธีการรักษาโรคมะเร็งปอดด้วยการส่องกล้องโดยการผ่าตัดนั้น ส่วนมากมักจะมีบทบาทในมะเร็งระยะเริ่มต้นที่ 1 และ 2 โดยใช้อุปกรณ์พิเศษเข้าไปผ่าตัดผ่านทางช่องซี่โครงเพื่อทำการผ่าตัดตัดบริเวณก้อนมะเร็งออก
ข้อดีของการผ่าตัดส่องกล้องคือ การที่ทำให้เกิดอาการบาดเจ็บต่อซี่โครง กล้ามเนื้อ น้อยกว่าการผ่าตัดเปิดแบบดั้งเดิม ส่งผลทำให้ผู้ป่วยสามารถฟื้นตัวได้ดีกว่า
โดยผู้ป่วยบางรายจะมีการรักษาโดยการให้ยาเคมีบำบัด หรือฉายแสงควบคู่ไปกับการรักษาด้วย โดยเฉพาะในกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งปอดระยะที่ 2 และ3 ผู้ป่วยท่านไหนที่ต้องการจะปรึกษาด้านการผ่าตัดมะเร็งปอดสามารถเข้ารับการปรึกษาได้ที่เพจเฟซบุ๊ก “ผ่าตัดปอด”
หน้า 15 หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 42 ฉบับที่ 3,817 วันที่ 11 - 14 กันยายน พ.ศ. 2565