ไทยติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตสูงสุดในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรระวัง

12 ต.ค. 2567 | 23:15 น.

สถิติประเทศไทยปัจจุบัน พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตสูงสุดในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง 608 และ 7 กลุ่มโรคประจำตัวเรื้อรัง ขณะที่แพทย์จากหลายหน่วยหน่วยงานร่วมเปิดเวทีให้ข้อมูล ย้ำชัดวัคซีนยังจำเป็น

รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ภิรุญ มุตสิกพันธุ์ นายกสมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ยังคงมีอัตราสูง ตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน (16 กันยายน 2567) มีผู้ติดเชื้อมากกว่า 7 แสนราย ต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลกว่า 4.8 หมื่นราย และเสียชีวิต 205 ราย ถือเป็นสถิติการติดเชื้อและเสียชีวิตสูงสุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

เมื่อเทียบการป่วยโควิด-19 กับไข้หวัดใหญ่ ตั้งแต่ต้นปี 2567 จนถึงปัจจุบัน จำนวนผู้ป่วยโควิด-19 มีประมาณ 4.9 แสนราย และเสียชีวิต 36 รายแล้ว ฉะนั้น โควิด-19 ถือว่ามีความรุนแรงที่มากกว่า ทั้งจำนวนผู้ป่วยและผู้เสียชีวิตที่มากกว่า โดยผู้เสียชีวิตร้อยละ 80-90 อยู่ในกลุ่มเสี่ยง 608 หมายถึงผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไปและผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง 7 กลุ่มโรค ได้แก่ โรคทางเดินหายใจเรื้อรัง โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไตเรื้อรัง โรคหลอดเลือดสมอง โรคมะเร็ง โรคเบาหวานและโรคอ้วน รวมทั้งสตรีมีครรภ์ด้วย

ไทยติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตสูงสุดในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรระวัง

“ประชากรส่วนใหญ่ห่างหายจากการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นไปนาน ถึงแม้หลาย ๆ คนอาจเคยติดเชื้อไปแล้ว แต่ภูมิคุ้มกันก็อยู่ไม่นาน ประกอบกับเชื้อมีการกลายพันธุ์ไป สาเหตุต่าง ๆ เหล่านี้ อาจทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้นในวงกว้าง และส่งผลกระทบต่อกลุ่มเปราะบาง เกิดโรครุนแรงภาวะแทรกซ้อนได้”

รศ. นพ.ภิรุญ กล่าวว่า กลุ่มผู้มีความเสี่ยงเมื่อป่วยเป็นโควิด-19 จะป่วยหนักสูงขึ้นประมาณ 2-3 เท่า โอกาสเสียชีวิตสูงขึ้นประมาณ 2-10 เท่า หากเทียบกับผู้มีอายุน้อยกว่าหรือผู้ที่ไม่ได้มีโรคร่วม และไม่เพียงแค่ติดเชื้อแล้วจะมีอาการรุนแรงขึ้นเท่านั้น แต่ยังส่งผลต่อภาวะโรคที่เป็นอยู่ด้วย เพราะโควิด-19 ไม่ใช่โรคของทางเดินหายใจอย่างเดียว ยังสามารถมีอาการแสดงได้ในหลายอวัยวะ เชื้อสามารถแพร่ไปได้ทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดภาวะแทรกซ้อนต่อระบบอวัยวะต่างๆ ได้ เช่น ลิ่มเลือดอุดตัน กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ หัวใจล้มเหลว ไตวาย ทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้น

ไทยติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตสูงสุดในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรระวัง

โควิด-19 กระตุ้นความรุนแรงของโรคหัวใจ

พลตำรวจตรี นายแพทย์เกษม รัตนสุมาวงศ์ นายกสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า อันตรายของโควิด-19 ที่รับรู้โดยทั่วไปคือเมื่อลงปอด จะทำให้เกิดภาวะปอดอักเสบได้ สำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคทางเดินหายใจเรื้อรัง เช่น หืดหรือปอดอุดกั้นเรื้อรังอยู่แล้ว เมื่อเชื้อลงปอดจะมีอาการรุนแรงมากกว่าคนปกติ อาจส่งผลให้เกิดภาวะหายใจล้มเหลวตามมาได้ ส่วนผู้ป่วยโรคหัวใจ โควิด-19 ยังส่งผลต่อระบบหัวใจและหลอดเลือดด้วย

“ในผู้ที่ไม่ได้เป็นโรคหัวใจ เมื่อเป็นโควิด-19 ก็สามารถเกิดภาวะแทรกซ้อนต่อหัวใจ เช่น ทำให้กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ ลิ่มเลือดอุดตัน และกล้ามเนื้อหัวใจตายจากการขาดเลือดไปเลี้ยงได้ ซึ่งภาวะดังกล่าวนี้เมื่อเกิดในผู้ป่วยที่มีโรคหัวใจอยู่แล้ว อาการจะยิ่งเลวร้ายขึ้นและอาจส่งผลให้อาการทรุดหนักจนถึงขั้นหัวใจวาย”

พลตำรวจตรี นายแพทย์เกษม กล่าวว่า อาการข้างเคียงที่พูดถึงกันบ่อยหลังจากฉีดวัคซีนโควิด-19 คือ กล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ จากการเก็บข้อมูลการฉีดในประเทศไทยมีรายงานว่า พบได้ประมาณ 2 คนใน 1 ล้านคน เกิดขึ้นในวัยรุ่นชายอายุ 18-29 ปี โดยเฉพาะหลังเข็มที่ 2 แต่หลังเข็มกระตุ้นแทบไม่เจอรายงานเรื่องนี้เลย ซึ่งในกลุ่มเสี่ยงก็ยังไม่มีความกังวลในจุดนี้อยู่ แต่หากจะชั่งน้ำหนักแล้วประโยชน์ที่ได้รับจากวัคซีน มีมากกว่าโอกาสที่จะเกิดผลข้างเคียงที่รุนแรง

วัคซีน-19 ยังจำเป็น ลดอัตราการตายได้

ศาสตราจารย์ แพทย์หญิงศศิโสภิณ เกียรติบูรณกุล ผู้แทนจากราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า โควิด-19 ส่งผลกระทบได้กับทุกอวัยวะ อาจก่อให้เกิดผลกระทบเหมือนเป็นลูกโซ่ ต่อทั้งโรคที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่ตามมาได้ในหลาย ๆ ระบบ แม้กระทั่งผู้ไม่ได้มีโรคประจำตัวมาก่อน ก็พบว่าโรคบางโรคเพิ่มสูงขึ้นหลังหายจากโควิดแล้ว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคปอด โรคทางสมอง เป็นภาวะที่เกิดตามหลังโควิด-19 หรือเรียกว่าลองโควิดซึ่งพบประมาณร้อยละ 15 แต่ในกลุ่ม 608 นั้น โรคมีความรุนแรงทั้งในขณะที่ป่วยอยู่และหลังจากหายป่วยแล้ว

ทั้งนี้  ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าวว่า วัคซีนโควิดเข็มกระตุ้นยังมีความจำเป็นอยู่ เพราะเชื้อโควิด-19 กลายพันธุ์ไปเรื่อยๆ ทำให้ผู้ที่เคยฉีดวัคซีนหรือเคยติดเชื้อไปนานแล้วและภูมิคุ้มกันอยู่ อาจไม่สามารถป้องกันโรคได้ โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง จึงมีความจำเป็นที่ต้องรับวัคซีนเข็มกระตุ้น ซึ่งข้อมูลปัจจุบันประสิทธิภาพของวัคซีนเข็มกระตุ้นจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 60-70 ในการป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต ถ้าพิจารณาจากความเสี่ยงของการป่วยหนักและเสียชีวิตที่เพิ่มขึ้นหลายเท่าในคนกลุ่มนี้แล้ว ยิ่งแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวัคซีนในการลดภาระโรคที่จะเกิดกับคนไข้กลุ่มนี้

ไทยติดเชื้อโควิด-19 เสียชีวิตสูงสุดในอาเซียน โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงควรระวัง

“ประเทศต่างๆ ทั่วโลก ทั้งในทวีปอเมริกา ยุโรป รวมถึงในแถบเอเชีย อาทิ ไต้หวัน และสิงคโปร์ ยังคงแนะนำให้ประชากร โดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง รับวัคซีนโควิดเข็มกระตุ้น เพื่อป้องกันการป่วยหนักและเสียชีวิต สำหรับประเทศไทย สมาคมโรคติดเชื้อแห่งประเทศไทยและราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ได้ออกคำแนะนำการฉีดวัคซีนโควิด สำหรับกลุ่ม 608 โดยแนะนำเข็มกระตุ้น โดยเฉพาะถ้าเคยฉีดวัคซีนเข็มก่อนหน้ามาเกิน 1 ปี หรือติดเชื้อครั้งสุดท้ายมานานกว่า 3-6 เดือน และไม่ขึ้นกับว่าเคยได้รับวัคซีนโควิด-19 มาแล้วจำนวนเท่าใด”

ศ.พญ.ศศิโสภิณ กล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านๆ มา จำนวนผู้ป่วยและเสียชีวิตจากโควิด-19 มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นในช่วงที่ผู้คนเดินทาง ผู้คนหนาแน่น ไปมาหาสู่กัน โดยเฉพาะช่วงสงกรานต์ และช่วงปลายปี ตามลักษณะของการระบาดของโรคก็พอจะคาดคะเนได้ว่า ในช่วงปลายปีที่จะถึงนี้ ต้องเตรียมพร้อมรับมือ ป้องกันตัวเองไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย เมื่อต้องอยู่ในพื้นที่มีคนอยู่แออัด และการฉีดวัคซีนเข็มกระตุ้นเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันเตรียมไว้

อย่างไรก็ตาม ในช่วงระยะเวลาเพียงแค่ไม่กี่ปีที่ผ่านมา วัคซีนโควิด-19 ฉีดไปแล้วทั่วโลกมากกว่า 1.3 หมื่นล้านเข็ม มากกว่าวัคซีนหลายตัวที่ใช้มาเป็นสิบๆ ปี จากศึกษาเกี่ยวกับวัคซีนโควิดและโควิด-19 โดยเฉพาะวัคซีนชนิด mRNA ข้อมูลยังคงสนับสนุนว่า มีความปลอดภัยสูง อาการข้างเคียงส่วนใหญ่ไม่รุนแรง เช่นเดียวกับวัคซีนอื่นๆ ที่ใช้กันมายาวนาน แม้จะใช้ชีวิตแบบ new normal อย่างเช่นเว้นระยะห่าง สวมหน้ากากอนามัยตลอด หลีกเลี่ยงสถานที่พลุกพล่านแออัด ในความเป็นจริงแล้วทำได้ยากมาก ฉะนั้น การฉีดวัคซีนจึงเป็นปัจจัยสำคัญ ช่วยป้องกันการป่วยหนักหรือเสียชีวิตในกลุ่มเสี่ยงได้