ตามที่คณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่) ได้แถลงผลการพิจารณาเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2567 ซึ่งขณะนี้ร่างพระราชบัญญัติฯดังกล่าวได้ถูกเผยแพร่ในเว็บไซต์ของรัฐสภาแล้ว โดยถูกบรรจุเข้าระเบียบวาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 26 ปีที่ 2 ครั้งที่ 4 (สมัยสามัญประจำปีครั้งที่สอง) โดยมีการผ่านวาระ 2 และ 3 ในวันที่ 25 ธันวาคม 2567
นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมการประมงแห่งประเทศไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า สภาผู้แทนราษฎรมีวาระพิจารณาร่างพระราชบัญญัติร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 พ.ศ. …. (ร่าง พ.ร.บ.ประมงฉบับใหม่)
สาระสำคัญกล่าวคือ สืบเนื่องจากพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 มีบทบัญญัติบางประการที่ไม่สอดคล้องกับการประกอบอาชีพประมงในประเทศไทย สมควรแก้ไขเพิ่มเติมให้เหมาะสมยิ่งขึ้น และสอดคล้องกับวิถีการประกอบอาชีพประมงพื้นบ้าน และไม่ขัดต่อหลักการทำประมงสากลตามพันธกรณีระหว่างประเทศ โดยเป็นการพิจารณารายมาตรา ในวาระสอง และการลงมติเห็นชอบในวาระสาม
“ผลปรากฏที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรวันนี้(25 ธ.ค. 67) มีมติ “เห็นชอบ” ร่างกฎหมายประมง วาระสาม ด้วยคะแนนเสียง เห็นด้วย 366 เสียง และไม่ลงคะแนนเสียง 2 เสียง กระบวนการถัดไป คือการพิจารณาในชั้นวุฒิสภา ต้องตั้งกรรมาธิการเข้าสู่การพิจารณาภายใน 30 วัน เนื่องจากเป็นกฎหมายการเงิน"
นายมงคล กล่าวว่า ในนามตัวแทนพี่น้องชาวประมงทั้ง 22 จังหวัด ขอขอบคุณนายเศรษฐา ทวีสิน อดีตนายกรัฐมนตรี , นายปลอดประสพ สุรัสวดี ประธานคณะกรรมาธิการและกรรมาธิการฯ ทุกท่าน , ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และทุกพรรคการเมือง ที่ได้ทุ่มเทเสียสละเวลาในการเร่งแก้ไขกฎหมายประมงฉบับใหม่ให้เป็นของขวัญปีใหม่ ให้กับพี่น้องชาวประมงให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้
“ต่อไปหากมีการกระความทำผิด จะมีโทษปรับเริ่มตั้งแต่หลักพันบาท ไปจนถึงปรับสูงสุดไม่เกิน 1 ล้านบาท จากกฎหมายเดิมโทษสูงสุดปรับ 30 ล้านบาท เรียกว่าต้องหมดเนื้อหมดตัว มีชาวประมงบางรายถึงขั้นฆ่าตัวตาย ครอบครัวต้องล่มสลาย จากต้องมีหนี้สินล้นพ้นตัว ดังนั้นกฎหมายใหม่ที่จะออกมา จึงถือเป็นข่าวดีของชาวประมงใน 22 จังหวัดชายทะเล” นายมงคล กล่าว ตอนท้าย