นายแพทย์ธนาธิป ศุภประดิษฐ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ธนบุรี เฮลท์แคร์ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ THG เปิดเผยว่า แผนการลงทุนของ THG ใน 3 ปีนับจากนี้ (ปี 2566-2568) จะใช้เงินลงทุนราว 5,000 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในปี 2566 จำนวน 2,070 ล้านบาท ปี 2567 จำนวน 1,327 ล้านบาท และปี 2568 จำนวน 1,409 ล้านบาท ไม่นับรวมการควบรวมกิจการ (M&A) และการร่วมทุน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตร 2-3 รายทั้งในประเทศและต่างประเทศ ภายใต้งบลงทุน 1,500- 2,000 ล้านบาท
ทั้งนี้หลังจากที่ THG เข้าไปลงทุนโรงพยาบาล ArYu International ในประเทศเมียนมา และประสบความสำเร็จ ทำให้บริษัทมีแผนขยายการลงทุนไปยังประเทศที่มีศักยภาพ เช่น เวียดนาม ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรที่จะเข้าร่วมลงทุน เพราะมองว่า เวียดนามเป็นประเทศที่มีประชากรมากกว่า 100 ล้านคน มีจีดีพีที่เติบโต และยังมีโอกาสในการเข้าไปลงทุนอีกมาก โดยเฉพาะในธุรกิจเฮลท์แคร์ ซึ่งจากการพูดคุยเบื้องต้น พบว่า มีความพร้อมในการเข้าไปลงทุนโรงพยาบาล เพื่อรักษาโรคกระดูก
“การลงทุนโรงพยาบาล ArYu International ในประเทศเมียนมา ถือว่าประสบความสำเร็จเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ หลังจากที่ THG เข้าไปลงทุนเมื่อ 7 ปีก่อน และเริ่มเปิดให้บริการได้เกือบ 4 ปีพบว่าในปีที่ผ่านมา โรงพยาบาล ArYu สามารถทำกำไรได้กว่า 60 ล้านบาท และใน 2 เดือนแรก (ม.ค.-ก.พ. 66)
มีรายได้ราว 50 ล้านบาทต่อเดือน และมีกำไร 10 ล้านบาทต่อเดือน จากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มทำกำไรได้ในปีที่ 5 ขณะเดียวกันหลังเกิดโควิด-19 ทำให้ค่าเงินจ๊าตผันผวน หากมีผู้สนใจเข้าไปลงทุน จะต้องใช้เม็ดเงินลงทุนมากกว่าเดิมถึง 2.5 เท่า ทำให้ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา ไม่มีคู่แข่งใหม่เกิดขึ้นเลย”
ด้านกลยุทธ์การดำเนินงาน THG จะเน้นการจับมือกับโรงพยาบาลเครือข่ายและสตาร์ทอัพ เพื่อเพิ่มศักยภาพสร้างโอกาสเชื่อมต่อฐานลูกค้าทั้งการรักษาพยาบาลและบริการในโรงพยาบาล (On site) และการให้บริการผ่าน Digital Health Tech (Online) เพื่อรองรับพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปหลังเกิดการระบาดของโควิด-19
ที่พบว่า ค่าเฉลี่ยผู้ป่วยโรคทั่วไปจะเข้าโรงพยาบาลลดลงจาก 4-6 ครั้งต่อปี เหลือ 2-3 ครั้งต่อปี ส่วนหนึ่งเพราะผู้คนมีความสนใจ Health Literacy มากขึ้น Online จึงถูกใช้เป็นแหล่งค้นคว้าข้อมูล นัดหมายก่อนตรวจรักษา รวมถึงตรวจสอบความน่าเชื่อถือของโรงพยาบาล
ดังนั้นแนวโน้ม Digital Health Tech จึงสำคัญมากในอนาคต เพราะธุรกิจเฮลท์แคร์ยุคต่อไปต้องนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นส่วนเสริมของปฏิบัติการทางการแพทย์ได้อย่างแม่นยำมีประสิทธิภาพ ทั้งเชื่อมต่อฐานลูกค้า สร้างรายได้และสร้างแบรนด์ ซึ่งภายใน 5 ปีจากนี้ หากโรงพยาบาลใดปรับตัวได้ก่อนก็จะได้เปรียบ
โดยมุ่งเน้นให้บริการที่ครอบคลุมใน 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. กลุ่ม B2C นำ Digital Health Tech มาเพิ่มความสะดวกในการตรวจรักษาและบริการ ควบคู่ความเชี่ยวชาญทางการแพทย์ที่เป็นจุดขายหลัก 2. กลุ่ม B2B มองหาโอกาสจากหน่วยงานและองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการเพิ่มสวัสดิการด้านการแพทย์ให้พนักงาน
รวมถึงจับมือกลุ่มบริษัทประกัน กลุ่มสตาร์ทอัพที่ต้องการพาร์ทเนอร์ โดย THG ได้จัดตั้ง บริษัท เทเลเฮลท์ แคร์ จำกัด รับผิดชอบดูแลธุรกิจเทเลเมดิซีนและการพัฒนานวัตกรรมดิจิทัลโดยเฉพาะ ขณะนี้นี้อยู่ระหว่างการศึกษาและจัดทำแซนบ็อกซ์ร่วมกับสิงคโปร์
3. กลุ่ม B2G โดย THG จะมุ่งขยายการให้บริการกับภาครัฐ ภายใต้โครงการความร่วมมือระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน (PPP) ให้มากขึ้นในปีนี้ เพราะมองว่าเป็นโอกาสที่จะทำให้ประชาชนได้เข้าถึงการรักษาพยาบาลที่ดี ซึ่งปัจจุบัน THG รับผลิตชอบดูแลธุรกิจบริหารศูนย์หัวใจ ภายใช้ชื่อ บริษัท ธนบุรี เสริมรัฐ จำกัด 3 แห่ง ได้แก่ รพ.ธนบุรี 2 ศูนย์การแพทย์ปัญญานันทภิกขุฯ และ รพ.พัทลุง และบริหาร รพ.อบจ.ภูเก็ต และล่าสุด “บริษัท ธนบุรี เวลบีอิ้ง จำกัด” ในเครือ THG ก็เพิ่งเปิดให้บริการศูนย์บำบัดและฟื้นฟูสมรรถภาพผู้ติดยาเสพติด Horizon Rehab Center ด้วย
สำหรับผลประกอบการของ THG ในปี 2565 บริษัทมีรายได้รวม 11,540 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,677 ล้านบาท ขณะที่ในปี 2566 ตั้งเป้าหมายที่จะมีรายได้เติบโตไม่น้อยกว่า 10%